สาระดีดีนิวส์ไทม์

สวก. จับมือ 4 หน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน ลงนามสัญญา เล็งนำนวัตกรรมแดนมังกรเพิ่มบริมาณน้ำจากฝน แก้ปัญหาภัยแล้งในประเทศไทย


 

            วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร เป็นประธาน พิธีลงนามสัญญาสนับสนุนโครงการ “การศึกษาศักยภาพการเพิ่มปริมาณน้ำฝนด้วยเทคโนโลยีคลื่นเสียงความถี่ต่ำในประเทศไทย” ระหว่าง สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) โดย ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ร่วมกับ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดย นายฉันติ เดชโยธิน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์บรรยากาศประยุกต์  กรมชลประทาน โดย นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา บริษัท มดทองพัฒนา จำกัด โดย Mr. Meng Ding Ye  และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทดลองนำองค์ความรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝนเทียม ด้วยเทคโนโลยีคลื่นเสียงความถี่ต่ำจากประเทศจีน มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกร และลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำในการอุปโภค - บริโภคกับผู้ใช้น้ำทั่วประเทศ รวมถึงเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำฝนในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ ตลอดจนพื้นที่ที่มีอุปสรรคด้านการบิน โดยมี Mr.Yao Zhan Yu ผู้เชี่ยวชาญจากห้องปฏิบัติการหลักของรัฐด้านอุทกวิทยาและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงฮวา และผู้แทนจากทั้ง 4 หน่วยงาน เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) 



            นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้น จากการที่สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ร่วมกับ ห้องปฏิบัติการหลักของรัฐด้านอุทกวิทยาและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงฮวา สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมการศึกษาและวิจัยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำในชั้นบรรยากาศ และพัฒนาเทคโนโลยีเหนี่ยวนำฝนด้วยคลื่นเสียงความถี่ต่ำ (Acoustic Rainfall Technology หรือ Low-Frequency Sound Wave Technology) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝนเทียมของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยสามารถกำหนดจุดที่จะทำให้ฝนได้ เช่น การให้ฝนตกในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ ซึ่งจากการทดลองงานวิจัยดังกล่าวในสาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่า การทดสอบทำฝนด้วยเทคโนโลยีคลื่นเสียงความถี่ต่ำบริเวณแม่น้ำฮวงโหหรือแม่น้ำเหลือง ในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 2019 สามารถเพิ่มปริมาณน้ำฝนได้ร้อยละ 18.98 ร้อยละ 10.61 และร้อยละ 8.74 ในพื้นที่รัศมี 2 3 และ 5 กิโลเมตร ตามลำดับจากจุดติดตั้งเครื่องมือ โดยในปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำ การเติมน้ำใต้ดิน การปรับปรุงระบบนิเวศ และการเพิ่มปริมาณฝนสำหรับทุ่งหญ้า



       ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาภัยแล้งแก่พี่น้องเกษตรกร โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ปัญหาเร่งด่วนเพื่อให้เกษตรกรได้มีน้ำใช้เพื่อการทำเกษตร สวก. ในฐานะหน่วยงานหลักในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอดภาคการเกษตร จึงมีแนวคิดนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทยเพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงในพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดาน ด้วยการเพิ่มปริมาณน้ำฝนในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในการอุปโภค-บริโภค อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย จำเป็นต้องศึกษาความเป็นไปได้ทั้งในเชิงเทคนิควิธีการและเงื่อนไขในการใช้ทำฝนที่เหมาะสมกับลักษณะอากาศและลักษณะพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อสร้างแนวทางที่เหมาะสมในการนำเทคโนโลยีข้างต้นมาใช้ในการเพิ่มปริมาณน้ำฝนและการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนสำหรับประเทศไทย สวก. จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อร่วมดำเนินโครงการฯ โดยคัดเลือกพื้นที่ในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่นำร่องดำเนินโครงการวิจัยฯ โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน จำนวน 4  หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ห้องปฏิบัติการหลักของรัฐด้านอุทกวิทยาและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงฮวา และบริษัท มดทองพัฒนา จำกัด             

นายฉันติ เดชโยธิน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์บรรยากาศประยุกต์ กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร รับผิดชอบดำเนิน “โครงการประเมินประสิทธิภาพการเพิ่มปริมาณฝนด้วยเทคโนโลยีคลื่นเสียงความถี่ต่ำ” เพื่อประเมินประสิทธิภาพของเทคโนโลยีดังกล่าวในการทำฝนเทียม โดยประกอบด้วย 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ (1) การออกแบบการทดลองทำฝนด้วยเทคโนโลยีคลื่นเสียงความถี่ต่ำที่เหมาะสมกับพื้นที่ศึกษา (2) การรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์พฤติกรรมการเกิดฝนบริเวณพื้นที่ศึกษา (3) การทดสอบการทำฝนด้วยคลื่นเสียงความถี่ต่ำในพื้นที่ศึกษา (4) การประเมินผลการทำฝนด้วยคลื่นเสียงความถี่ต่ำในพื้นที่ศึกษา และ (5) การจัดทำรายงานสรุปโครงการวิจัย และกำกับดูแลภาพรวมของการดำเนินงานโครงการวิจัย

              นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กล่าวว่า กรมชลประทานมีความพร้อมในการดำเนิน “โครงการประเมินปริมาณน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำที่ได้จากการเพิ่มปริมาณฝนด้วยเทคโนโลยีคลื่นเสียงความถี่ต่ำในประเทศไทย” โดยตั้งเป้าหมายศึกษาการเพิ่มปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ทดลอง โดยศึกษาความเป็นไปได้ทั้งในเชิงเทคนิควิธีการ ลักษณะทางกายภาพ ลักษณะทางอุตุ-อุทก ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำ และนำมาคำนวณปริมาณน้ำต้นทุนให้เพียงพอสำหรับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชนที่ตามสภาวะที่มีการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศต่อไป



    นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับผิดชอบดำเนิน “โครงการศึกษาผลกระทบด้านเสียง สั่นสะเทือน และสัตว์ป่า บริเวณโดยรอบเครื่องกำเนิดคลื่นเสียงความถี่ต่ำ สนับสนุนและร่วมดำเนินการด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าหมายศึกษาการเปลี่ยนแปลง และผลกระทบของเสียง สั่นสะเทือน และสัตว์ป่าบริเวณพื้นที่โดยรอบ จากการใช้เครื่องกำเนิด Low-Frequency Acoustic Waves สำหรับเป็นแนวทางในการป้องกันและควบคุมผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรม การประเมินผลกระทบด้านเสียง การประเมินผลกระทบด้านสั่นสะเทือน และการประเมินผลกระทบด้านสัตว์ป่า ทั้งในระยะก่อน ระหว่าง และหลังที่มีการติดตั้ง

Mr. Meng Ding Ye บริษัท มดทองพัฒนา จำกัด  กล่าวว่า บริษัท มดทองพัฒนา จำกัด ได้รับผิดชอบ “โครงการจัดหาและติดตั้งชุดอุปกรณ์ทดลองเพิ่มปริมาณฝนด้วยเทคโนโลยีคลื่นเสียงความถี่ต่ำในประเทศไทย” ในการประสาน และนำความรู้จากนักวิจัยห้องปฏิบัติการหลักของรัฐด้านอุทกวิทยาและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงฮวา เข้าร่วมวิจัยและติดตั้งอุปกรณ์ในพื้นที่ที่กำหนด โดยคาดว่าหลังจากนี้อุปกรณ์ดังกล่าวจะมาถึงประเทศไทย ประมาณ 1 เดือน สำหรับเทคโนโลยีฯ ถูกพัฒนาขึ้น




โดยห้องปฏิบัติการหลักของรัฐด้านอุทกวิทยาและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงหัว สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเทคโนโลยีการทำฝนที่ใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำกระตุ้นการสั่นสะเทือนของเม็ดน้ำในก้อนเมฆให้เกิดกระบวนการชนและรวมตัวกัน และเพิ่มจำนวนเม็ดน้ำขนาดใหญ่ขึ้นจนเกิดฝนตกในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีการทำฝนทางเลือกที่ปลดปล่อยคาร์บอนต่ำ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มปริมาณน้ำฝนเชิงพื้นที่ และการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำน้อย โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่มีอุปสรรคในการทำฝนด้วยอากาศยานเนื่องจากเหตุผลความปลอดภัยด้านการบิน และในสถานการณ์ที่มีความต้องการขอรับบริการการทำฝนหลายพื้นที่ในช่วงเวลาเดียวกัน

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
สาระดีดีนิวส์ไทม์
สาระดีดีนิวส์ไทม์
สาระดีดีนิวส์ไทม์