กรมส่งเสริมสหกรณ์หนุนสหกรณ์กองทุนสวนยางควนเปล จำกัด
เป็นต้นแบบสหกรณ์ที่ดำเนินงานตามกฎหมาย EUDR (European Union Deforestation-free
Regulation) เกิดการรวมซื้อรวมขาย มีการเชื่อมโยงเครือข่าย
ทำให้เกษตรกรสมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมขยายผลความสำเร็จไปยังสหกรณ์ทั่วประเทศ
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวภายหลังนำทีมผู้บริหารกรมส่งเสริมสหกรณ์
ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์กองทุนสวนยางควนเปล จำกัด
ตำบลท่าเรือ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ว่า ขอชื่นชมคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ
สมาชิกสหกรณ์ที่ร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจกันจนสามารถดำเนินธุรกิจได้ประสบผลสำเร็จ
มีการรวมซื้อรวมขาย รวบรวมน้ำยางพาราสดนำมาแปรรูป
ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายในการรวบรวมน้ำยางสด และยังดำเนินงานตามกฎหมาย EUDR ทำให้ขายยางพาราได้ราคาดีขึ้น
และได้รับการยอมรับจากต่างชาติ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ได้มีนโยบายให้เพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้น
รวมทั้งการลดต้นทุนการผลิตโดยการใช้ปุ๋ยสั่งตัด
ส่งเสริมให้สหกรณ์มีโรงผสมปุ๋ยของตนเอง พร้อมกับขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินในการตรวจวิเคราะห์ค่าดิน
และให้สหกรณ์ผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินของสมาชิก ซึ่งกรมฯ
พยายามขับเคลื่อนและจะพัฒนาไปจนถึงปุ๋ยคนละครึ่งเพื่อให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตด้วย
และพร้อมสนับสนุนงบประมาณ อุปกรณ์การตลาด ไปจนถึงองค์ความรู้ด้านการแปรรูป การตลาด
การเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างเครือข่ายสหกรณ์
และการสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกด้วย
“ผลจากที่สหกรณ์ได้เข้าร่วมโครงการ EUDR ทำให้ชาวสวนยางได้รับราคายางที่ดีขึ้น เนื่องจากตามกฎหมาย EUDR ถ้าชาวสวนยางสามารถบ่งบอกจุดที่เป็นที่ตั้งของสวนยางได้ว่า
เป็นสวนยางที่ไม่บุกรุกป่า ไม่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
แล้วสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ยางที่นำมาขายกับสหกรณ์
สหกรณ์จะได้รับราคาที่สูงขึ้นกว่ายางทั่วไป เช่น ราคาในวันนี้ได้รับราคาที่ 92 บาท
ซึ่งเป็นราคาที่ดีกว่าที่ซื้อเป็น Non-EUDR ประมาณ 20
บาท/กก.
และในส่วนนี้สหกรณ์ไปซื้อน้ำยางจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในราคาที่สูงขึ้นด้วย
ก็ทำให้เกษตรกรได้รับราคาน้ำยางสดที่ดีขึ้น
โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อชาวสวนยางได้เป็นอย่างมาก
เฉพาะเรื่องของราคาอย่างเดียวก็ทำให้เกษตรกรได้รับราคาที่ดีขึ้น กรมจะขยายผลไปยังสหกรณ์อื่น
ๆ ที่เกษตรกรสามารถบ่งบอกได้ว่าสวนยางของตนเองมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง
ไม่ผลิตจากสวนยางที่บุกรุกทำลายป่าหรือป่าต้นน้ำ
ถ้าสามารถยืนยันตรงนี้ได้ก็จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้” อธิบดีฯ วิศิษฐ์ กล่าว
สหกรณ์กองทุนสวนยางควนเปล
จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลา 31 ปี
ปัจจุบันสมาชิก 102 คน ทุนดำเนินงาน 1.565 ล้านบาท สหกรณ์ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิต
ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และธุรกิจแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและการผลิตสินค้า
ซึ่งสหกรณ์ฯ ดำเนินการแปรรูปยางพารา โดยสหกรณ์กู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์
ตามวัตถุประสงค์ในการรวบรวมและแปรรูปยางพารา จำนวน 1 ล้านบาท
เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนหลักในการดำเนินธุรกิจ
และสามารถใช้อุปกรณ์การตลาดที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐในการรวบรวมและแปรรูปยางพารา
โดยรับซื้อน้ำยางสดของสมาชิก เกษตรกรในพื้นที่
รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายในการรวบรวมน้ำยางสด เช่น สหกรณ์การเกษตร กรป.กลาง
มะปรางมันปัตตานี จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางคลองช้าง จำกัด
สหกรณ์กองทุนสวนยางโคกพันตัน จำกัด สหกรณ์สามารถรวบรวมน้ำยางสดเพื่อผลิต 430,918.62
กิโลกรัม เป็นเงิน 7,359,258 บาท เข้ากระบวนการแปรรูป จำนวน 153,517 กิโลกรัม
เป็นเงิน 8,665,540.60 บาท คิดเป็นร้อยละ 69.76 ของปริมาณธุรกิจรวม
อย่างไรก็ตาม
สหกรณ์ยังได้นำนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”
มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน
โดยเน้นขับเคลื่อนงานส่งเสริมสร้างสินค้าเกษตรมูลค่าสูง
ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน เช่น
การสนับสนุนจากการยางแห่งประเทศไทยในการเข้าร่วมขับเคลื่อนงานตามกฎหมาย EUDR โดยยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย
ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า
รวมทั้งจะต้องการจัดการสวนยางพาราที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม
และใช้ระบบการประมูลขายยางผ่านระบบตลาดซื้อขายยางพาราให้กับตลาดกลางยางพาราจังหวัดยะลา
ส่งผลให้สหกรณ์ขายยางพาราในราคาที่สูงกว่าตลาด
และอีกส่วนหนึ่งถือว่าเป็นการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพิ่มคุณภาพชีวิต
เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สหกรณ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากพลังงานจังหวัดปัตตานีเรื่องบ่อบำบัดน้ำเสียจากกระบวนการผลิตยางพารา
ใช้น้ำเสียแปรเปลี่ยนเป็นพลังงาน สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตของสหกรณ์
ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิต (ไม้ฟืน) ลดลงกิโลกรัมละ 0.40 บาท หรือลดลงประมาณ 58,000
บาท/ปี
นอกจากนี้
สหกรณ์ยังผลิตปุ๋ยสั่งตัด โดยกู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ตามวัตถุประสงค์ จำนวน 1
ล้านบาท เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนหลักในการดำเนินธุรกิจ
และสามารถใช้อุปกรณ์การตลาดที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐในการแปรรูป ปุ๋ยสั่งตัด ส่งผลให้สามารถจัดหาแม่ปุ๋ย
และผลิตปุ๋ยสั่งตัดจำหน่าย
จำหน่ายให้กับสมาชิกทำให้สามารถลดต้นทุนการประกอบอาชีพในการใส่ปุ๋ยได้กระสอบละ 200
บาท โดยลดลงประมาณ 600 บาทต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 16.67 ผลสำเร็จจากการดำเนินงาน
ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีความสนใจและเชื่อมั่นต่อความเป็นสหกรณ์ ได้รับคัดเลือกจากการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดปัตตานี
เป็นสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางดีเด่น ระดับจังหวัด ประจำปี 2565/2566 ประเภท
“สหกรณ์ระยะพัฒนา” และได้รับรางวัลสหกรณ์ระยะพัฒนาดีเด่น รางวัลที่ 2 ประจำปี
2566/2567 ระดับเขตภาคใต้ตอนล่างอีกด้วย