สาระดีดีนิวส์ไทม์

เกษตรฯ ร่วมมือภาคีเครือข่าย มุ่งเป้าลดโลกร้อน ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ย่อยสลายฟางข้าว

 



ปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวในประเทศไทยโดยเฉลี่ยมีประมาณ 65 ล้านไร่ คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งประเทศ ในแต่ละรอบการผลิตจะมีฟางข้าวเฉลี่ยประมาณปีละ 25.45 ล้านตัน และมีปริมาณตอซังข้าวที่ตกค้างอยู่ในนาข้าว 16.9 ล้านตันต่อปี ดังนั้นจึงนับได้ว่ามีปริมาณฟางข้าวและตอซังข้าวมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับตอซังพืชชนิดอื่น 



มองปัญหา ทำความเข้าใจ

               นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในพื้นที่ปลูกข้าว 1 ไร่ จะมีปริมาณฟางข้าวและตอซัง โดยเฉลี่ยปีละ 650 กิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการฟางข้าวและตอซัง เพื่อเป็นทางเลือกในการเพิ่มรายได้และผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่ตัดสินใจเผาฟางข้าวและตอซัง เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกพืชหมุนเวียนต่าง ๆ จนทำให้ฟางถูกเผาทิ้งอย่างน่าเสียดาย การเผาฟางนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นมลภาวะและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก




ขับเคลื่อนนโยบาย 3R

กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขับเคลื่อนนโยบาย 3 R หรือ 3 เปลี่ยน ตามนโยบายรัฐบาลเป็นแนวทางเพื่อลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร โดยเป้าหมายสำคัญคือทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้เข้าใจถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่เผา และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร สำหรับตอซังข้าวและฟางข้าวเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่าย จึงมีหลายภาคส่วนร่วมกันหานวัตกรรมใหม่ มาช่วยในการย่อยสลาย และต้องปลอดภัยทั้งเกษตรกร ปลอดภัยต่อพืช ไม่มีสารตกค้างต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยปกติแล้วฟางข้าวมีปริมาณธาตุอาหารหลักของพืช ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เฉลี่ย 0.51 0.14 และ 1.55 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณธาตุอาหารรองของพืชได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และซัลเฟอร์ เฉลี่ย 0.47 0.25 และ 0.17 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อย่อยสลายเป็นอินทรียวัตถุจะปรับเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดินเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ประหยัดต้นทุนการซื้อปุ๋ย เป็นวงจรการปรับปรุงบำรุงดิน



สร้างแนวร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน

               สำหรับการขับเคลื่อนการศึกษาทดสอบเทคโนโลยีชีวภาพ จังหวัดปทุมธานี นับเป็นต้นแบบในการบูรณาการจัดการปัญหาได้ โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) คิดค้นและพัฒนากลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังและฟางข้าว คิดค้นถังบ่มเพาะหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังและฟางข้าว โดยมีภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนการขยายจุลินทรีย์ให้เกษตรกรสามารถผลิตขยายจุลินทรีย์ใช้ในชุมชนได้ สำหรับสำนักงานเกษตรจังหวัด มีส่วนสนับสนุนในการให้ความรู้เกษตรกร และในเดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นไป จะขยายนำร่องใน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี สระบุรี ลพบุรี ชัยนาท และจังหวัดสุพรรณบุรี เกษตรกร 2,400 คน พื้นที่รวม 59,000 ไร่



ดึงนโยบาย สู่การใช้จริง

               สำหรับจุลินทรีย์ชนิดนี้ สามารถใช้ได้ทุกพื้นที่ ตามความสะดวกและทรัพยากรที่มีอยู่ในมือของเกษตรกร เช่น ใช้โดรนในการฉีดพ่น ใช้ถังฉีดพ่น หรือละลายน้ำและขังน้ำไว้ เพียง 7 วัน จุลินทรีย์ชนิดนี้จะทำให้ตอซังและฟางข้าว มีความนุ่ม เปื่อยยุ่ย ไม่ติดล้อรถที่มาตีนาในขั้นตอนการเตรียมดิน ลักษณะของน้ำในแปลงนาที่หมักด้วยจุลินทรีย์ จะมีสีฟางข้าว ไม่มีกลิ่นเหม็น โดยรวมใช้เวลาน้อยกว่าการขังน้ำโดยไม่มีการเติมจุลินทรีย์ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเริ่มการทำนาได้เร็วขึ้น

ผลขับเคลื่อน

จากการวิจัยและทดลองในพื้นที่ พบว่า ปริมาณการใช้ปุ๋ย ลดลงเกือบ 1 เท่าตัว จากเดิมธาตุอาหารที่เกษตรกรต้องใส่เฉลี่ย 650 กิโลกรัมต่อไร่ คำนวนจากการใช้ไนโตรเจน 6.9 ฟอสฟอรัส 0.8 โพแทสเซียม 15.6 และหลังจากการอัดฟางใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย พบว่า คิดเป็น 275 กิโลกรัมต่อไร่ คำนวณจากการใช้ไนโตรเจน 2.92 ฟอสฟอรัส 0.34 โพแทสเซียม 6.6 เป็นต้น นอกจากจะช่วยให้โครงสร้างดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีธาตุอาหารในดินเพิ่มมากขึ้น การไม่สร้างมลพิษทางอากาศให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้จังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นชุมชนเมือง มีอากาศที่สะอาด ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากมีการเผาฟางและตอซัง ส่งผลกระทบต่อชุมชน รวมถึงแปลงเกษตรกรข้างเคียงได้




ทางรอดที่ยั่งยืน

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการเผา จะต้องใช้เทคโนโลยีและผลการวิจัย ศึกษา ทดสอบ และเห็นผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงของการทดสอบ 3 R Model จังหวัดปทุมธานี จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจะสร้างจุดเปลี่ยนส่งเสริมการใช้นวัตกรรม ขยายผลความสำเร็จที่เกิดขึ้นให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ สร้างอากาศสะอาด สู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด 3 เปลี่ยน ตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพีรพันธ์ กล่าว

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
สาระดีดีนิวส์ไทม์
สาระดีดีนิวส์ไทม์
สาระดีดีนิวส์ไทม์