สหกรณ์ฯพรหมคีรี
เตรียมรับมือผลผลิตมังคุดทะลักรอบสองปลายเดือนนี้กว่า 1,200 ตัน
พร้อมประสานผู้ประกอบการส่งออกและสหกรณ์ในเครือข่ายกระจายผลผลิตออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด มั่นใจราคาไม่ตกต่ำเหมือนทุกปี
เหตุสมาชิกทำมังคุดคุณภาพมากขึ้น คาดอีก 3
ปีข้างหน้าทุเรียนเต็มพื้นที่หลังสมาชิกโค่นยางพาราหันมาปลูกราชาผลไม้
นางยุพดี จิตผ่องอำไพ
ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี จำกัด
เผยสถานการณ์ผลไม้ในฤดูกาลผลิตปีนี้(2567)ว่าผลผลิตโดยรวมน่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ
1,200 ตัน โดยเฉพาะมังคุดนั้นรุ่นแรกได้ให้ผลผลิตไปแล้ว แต่ไม่เยอะมาก
รุ่นที่สองกำลังจะออกตามมาในปลายเดือน นี้ คาดว่าจะมีปริมาณมากกว่า 50%
ของปริมาณผลผลิตทั้งหมดในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้สหกรณ์ได้มีการเตรียมรองรับไว้แล้ว
ทั้งการประสานผู้ประกอบการส่งออก ล้งในพื้นที่และสหกรณ์ในเครือข่ายในภูมิภาคต่าง ๆ
ทั่วประเทศในการช่วยกระจายผลผลิตไปจำหน่าย
ซึ่งคิดว่าปีนี้ปัญหาในเรื่องราคามังคุดตกต่ำเหมือนปีที่ผ่าน ๆ มาไม่น่าจะเกิดขึ้น
โดยดูจากราคามังคุดในรุ่นแรกสนนราคาจำหน่าย 40-50 บาท/กิโลกรัม ขณะที่เกรด AA 70-80 บาท/กิโลกรัม
“เรื่องราคามังคุดปีนี้ไม่น่าห่วง
ถ้าทำมังคุดคุณภาพ เราไม่เชื่อว่าจะขายไม่ได้ราคา แต่ที่ขายไม่ได้ราคา
เกษตรกรชาวสวนไม่สนใจมากกว่า
ที่ผ่านมาเราไปรณรงค์สมาชิกในส่วนตรงนั้นให้ช่วยกันทำมังคุดคุณภาพ
ทำสวนจีเอพี(GAP) สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ต้นทุนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น
เพราะถ้าใช้สารเคมีที่เหมาะสม ต้นทุนก็จะลดลงด้วยซ้ำ สหกรณ์เราทำมังคุดมาตั้งแต่ปี 48
แล้วต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเจ้าของสวนผลไม้
มังคุดปีนี้รุ่นแรกออกไปแล้วรุ่นสองกำลังจะตามมาน่าจะปลายเดือนนี้ ราคาเกรดAAอยู่ที่ 70 บาท ซึ่งสมาชิกเขาบริหารจัดการเองได้
ส่วนสหกรณ์เรารอดูตลาดจริง เมื่อไหร่ราคาตกต่ำ
เราก็จะเข้าไปรับซื้อต่ำสุดน่าจะอยู่ที่ 28-30 บาท”
นางยุพดี กล่าวต่อว่า สำหรับตลาดมังคุดขณะนี้ได้เตรียมพร้อมแล้วในการกระจายผลผลิตสู่นอกพื้นที่ โดยเฉพาะสหกรณ์ในเครือข่ายจากภูมิภาคต่าง ๆ
ที่ได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรเป็นประจำอยู่แล้วก็จะมาช่วยเราเพิ่มขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์เกษตรวิสัย จำกัด จ.ร้อยเอ็ด
ที่ได้มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันมานานหลายปี
หรือสหกรณ์การเกษตรในจังหวัดสุรินทร์
นครราชสีมาและอีกหลายจังหวัดที่เราได้สั่งสินค้าในท้องถิ่นนั้น ๆ
มาจำหน่ายให้กับสมาชิกสหกรณ์ของเรา
นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการส่งออกผลไม้และล้งในพื้นที่ ซึ่งได้มีการประสานเบื้องต้นไว้แล้ว
หากผลผลิตมังคุดออกมาพร้อม ๆ กันก็จะเข้าไปดำเนินการในทันที
ในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ขณะนี้ก็ได้มอบตะกร้าใส่ผลผลิตขนาด 3
กิโลกรัมเพื่อรองรับผลผลิตเพื่อกระจายออกนอกพื้นที่ไว้เรียบร้อยแล้วเช่นกัน
ซึ่งปกติตะกร้ากรมได้ให้มาทุกปี ในขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็ได้มอบเครื่องคัดแยกมังคุดมา
1 เครื่องตามที่สหกรณ์ฯได้ทำเรื่องเสนอไป
สำหรับจุดเด่นของมังคุดของสหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี จำกัด จะมีลักษณะผิวมัน หูสวย
ผลโต เปลือกบาง เนื้อในดี รสชาติหวานอร่อย แม้ว่าราคาจะสูงกว่ามังคุดทั่วไป
แต่ก็ตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี หากผลผลิตไม่ออกมาพร้อม ๆกันจนกระจุกเกินไป
“สหกรณ์เราทำเอ็มโอยูกับสหกรณ์เกษตรวิสัยร้อยเอ็ด
เราขายข้าวหอมมะลิเกษตรวิสัย ปีละพันกว่าตัน เฉลี่ยเดือนร้อยตัน
เกษตรวิสัยมาส่งข้าวให้เรา ขากลับหาสินค้าอะไรใส่เข้าไปเพื่อช่วยค่าขนส่ง
เราร่วมกันทำมาหลายปีแล้ว หรือที่สุรินทร์ก็เหมือนกัน
รถสิบล้อเข้ามาทุกอาทิตย์อยู่แล้ว
เพื่อขนส่งสินค้ามาแลกเปลี่ยนกัน แต่ปีนี้ค่าขนส่งแพงมาก
ค่าน้ำมันไปสุรินทร์เกือบสองหมื่น
แต่เขาก็ไปบวกราคาสินค้าเพิ่มเข้าไป
ถ้าเป็นช่วงหน้าผลไม้ ไม่มีปัญหาเอาข้าวมา ขนผลไม้กลับไป
แต่ถ้าไม่ใช่หน้าผลไม้ ทางเราก็ได้ประสานกับกลุ่มแสงวิมาน กลุ่มเกษตรกรปลูกส้มโอทับทิมสยามที่ปากพนังไว้ เมื่อเขาส่งข้าวหอมมะลิมาให้
เขาก็เข้าไปเอาส้มโอกลับไป จะได้ต้องไม่ตีรถเปล่าให้เสียเวลา”
ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี
จำกัด ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี มีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้นกว่า 2,000 คน
ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนผลไม้และสวนยางพาราเป็นหลัก ต่อมาราคายางตกต่ำ
ทำให้สมาชิกจำนวนไม่น้อยโค่นยางพาราแล้วหันมาปลูกทุเรียนแทน ซึ่งคาดว่าในอีก 3-4
ปีข้างหน้า ผลผลิตทุเรียนจะออกมาเต็มพื้นที่อย่างแน่นอน เพราะนอกจากมังคุด
ผลไม้ตัวหลักที่ดำเนินการมาหลายปีแล้ว
อนาคตข้างหน้าสิ่งที่สหกรณ์ยังต้องเตรียมรับมือคือผลผลิตทุเรียนที่ออกสู่ตลาดด้วย ซึ่งในช่วง
2-3 ปีที่ผ่านมาสมาชิกได้เสนอโครงการยื่นขอกู้เงินเพื่อไปปรับปรุง
ขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนและมังคุด ร่วม 600 ล้านบาท โดยยอดเงินกู้สูงสุด 5
ล้านบาท/ราย เพื่อทำทุเรียนทวายหรือทุเรียนนอกฤดู
ขณะต่ำสุดหลักหมื่นเพื่อนำไปพัฒนาระบบน้ำในสวนผลไม้ โดยจะมุ่งเน้นยกระดับเป็นสวนจีเอพี(GAP)ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับผลผลิตได้ทุกลูกทั้งมังคุดและทุเรียน
“ที่พรหมคีรี ต่างจากจันทบุรี ที่จัดการดูแสวนอย่างเป็นระเบียบ
แต่ที่พรหมคีรีสวนของสมาชิกจะอยู่ตามป่าตามเขาเป็นลักษณะสวนสมรม ไม่ใช่สวนเชิงเดี่ยวแต่จะแซมด้วยพืชอื่น
เพราะจะทำให้เจ้าของมีรายได้จากพืชอื่นด้วย ตอนนี้สมาชิกปลูกทุเรียนเยอะสุด
แต่ว่ายังไม่มีผลผลิต เราก็ไปส่งเสริมปลูกกล้วย ปลูกมะละกอ
ปลูกมะนาวเป็นพืชเสริมเพื่อรอให้ทุเรียนให้ผลผลิตในอีก 3-4 ปีข้าวหน้า สำหรับสมาชิกที่ปลูกทุเรียนเรามีโครงการนำร่อง
โดยสหกรณ์จะออกทุนให้ต้นละ 50 บาท รายละไม่เกิน 30 ต้น
ตอนนี้มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการแล้ว 120 คน ถ้าเขาเห็นว่าดี ก็ไปต่อยอดทำเองต่อไป
เมื่อถึงตอนนั้น
เราก็มาช่วยกันทำตลาดทุเรียนร่วมกันทั้งสหกรณ์และสมาชิกเจ้าของสวน”นางยุพดีเผย
เธอยอมรับว่าเป้าหมายหลักของสหกรณ์จะทำเพื่อสมาชิกเท่านั้น
หากธุรกิจใดสมาชิกไม่ได้ประโยชน์หรือไม่มีส่วนร่วมในการดำเนินการก็จะเลิกทันที
โดยไม่คำนึงถึงผลกำไรเป็นตัวตั้ง อย่างเช่นเมื่อก่อนสหกรณ์รับซื้อน้ำยางพารา(สด)
จากสมาชิกเพื่อนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า โดยแต่ละวันรับซื้อน้ำยางจากสมาชิกแต่ละวันประมาณ
2-3 หมื่นกิโลกรัมเพื่อนำมาแปรรูป มาระยะหลังราคาตกต่ำ
สมาชิกโค่นยางพาราหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น
ทำให้ปริมาณน้ำยางสดที่รับซื้อจากสมาชิกเหลืองเพียงวันละ 2-3 พันกิโลกรัมเท่านั้น
เมื่อนำมาแปรรูปก็จะไม่คุ้มทุน ทางคณะกรรมการฯสหกรณ์จึงตัดสินใจยุติธุรกิจรับซื้อน้ำยางสดจากสมาชิกทันที
“เมื่อก่อนเราก็ทำธุรกิจรวบรวมน้ำยางพาราสดจากสมาชิกแล้วมาแปรรูป
สหกรณ์เรามีโรงงานแปรรูปยางพาราด้วยแต่ตอนนี้ปิดไปแล้วไม่ทำต่อแล้ว
เมื่อก่อนเรารับซื้อน้ำยางวันละสามหมื่นกิโลตอนนี้รับซื้ออยู่สองสามพันกิโล
ขาดทุนสะสมทุกวัน ไม่มีจุดคุ้มทุน เราเลยปิด ถ้าเราจะทำต่อก็สามารถได้
โดยรับซื้อบิ๊กน้ำยางสดจากที่อื่นที่ไม่ใช่ของสมาชิก เหมือนกับสหกรณ์ยางอื่น ๆ
เขาทำกัน แต่เราไม่ทำ เพราะไม่ใช่น้ำยางจากสมาชิกของเรา
นี่คือเหตุผลที่เราปิดกิจการธุรกิจรวบรวมน้ำยางฯเมื่อปีที่แล้วหันมาดูแลสมาชิกทำสวนผลไม้อย่างเดียว
คือถ้าตัวไหนมันไปไม่ได้ก็ต้องยอมรับปล่อยไป”ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรพรหมคีรีกล่าว
อย่างไรก็ตามนางยุพดีย้ำด้วยว่า
ปัจจุบันสหกรณ์ฯทำธุรกิจสินเชื่อปล่อยเงินกู้แก่สมาชิกเป็นรายได้หลัก
โดยปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี ส่วนเงินฝากคิดดอกเบี้ยร้อยละ3
เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้สมาชิกออมเงินกับสหกรณ์
โดยปีนี้สหกรณ์ได้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้กับสมาชิกไปแล้วคิดเป็นเงินกว่า 10
ล้านบาท โดยมียอดปล่อยกู้อยู่ที่ 600 ล้านบาท
ขณะที่มีหนี้ค้างชำระน้อยมากแค่หลักแสนบาทเท่านั้น
นอกจากนี้สหกรณ์ยังมีรายได้จากให้เช่าพื้นที่ทำปั้มน้ำมันของบริษัทเอกชน
ซึ่งก่อนหน้าที่เคยมีปั้มของสหกรณ์เองแต่ไปไม่รอด ต้องยกเลิกเปลี่ยนเป็นให้เช่าแทน
ส่วนเงินกู้กองทุนพัฒนาสหกรณ์(กพส.)หรือเงินกู้จากภายนอกนั้นปกติจะไม่มี
เพราะสหกรณ์มีเงินทุนเพียงพอในการปล่อยกู้ให้กับสมาชิกของสหกรณ์เอง