สาระดีดีนิวส์ไทม์

ความสำเร็จโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ กรมการข้าวยกระดับวิถีชีวิตชาวนา ส่งเสริมข้าวน้ำรู สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน


 

นายพรเทพ สีวันนา นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ได้เล่าความสำเร็จโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ว่า “บ้านเล็กในป่าใหญ่” เป็นโครงการที่ภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันสนับสนุน จะเป็นเรื่องของข้าว น้ำ สัตว์ และพืช



สิ่งหนึ่งที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งเน้นมาตลอด คือ พยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี ให้สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนในชุมชนเหล่านั้น สิ่งหนึ่งที่กรมการข้าว ซึ่งเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนเกี่ยวกับ พืชพันธุ์หลัก พืชอาหาร นั่นคือข้าว ความสำเร็จของเราก็คือขอให้ประชาชนและเกษตรกรมีข้าวที่พอกิน ยังคงสภาพแปลงนา เป็นสินทรัพย์ที่สำคัญในพื้นที่ดังกล่าวให้คงอยู่ เพียงที่เค้าได้มีเมล็ดพันธุ์ที่เพียงพอ ได้ปลูกต่อในฤดูถัดไปได้ อาจมีการปรับใช้เทคโนโลยีที่กรมการข้าวได้ไปสอน ไปสนับสนุน และผันแปรไปตามวิถีชีวิตของเค้าเหล่านั้น เนี่ยแหละครับ ที่ผมมองว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญ ที่กรมการข้าวยังต้องยึดมั่นและดำเนินงานต่อ ในทุกๆ ปี



ยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ ยุคใหม่ ที่จะเข้ามาสืบสาน ต่อยอด กับภูมิปัญญา วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชุมชน ของโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ สิ่งหนึ่งที่เติบโตคือ ทุกๆ เจนเนอเรชั่น ที่เติบโตขึ้นมาทดแทน เค้ามีแนวคิดที่จะพัฒนาเช่น เค้าคงจะไม่มาบริโภคอย่างเดียวแล้วเค้ามีการเรียนรู้เพิ่มเติม เค้าอาจพัฒนา แปรรูปเป็นสินค้าร่วมกับทางพื้นที่ทำเป็นธุรกิจ การเกษตรเชิงท่องเที่ยวหรือสร้างสตอรี่กับพืชพรรณที่เค้ามีอยู่โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นพืชเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นข้าวไร่ ข้าวดอย ข้าวในที่สูง มีการสร้างกิมมิค ของมูลค่า ที่ต่อยอด ในการที่จะศึกษาเรียนรู้กับ วิธีการเพาะปลูกแบบใหม่ ๆ ความท้าทายที่กรมการข้าวต้อง มุ่งเน้น และส่งเสริมอย่างเข้มข้น”



กรมการข้าวได้เข้าไปดำเนินการกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวแบบนาขั้นบันได จัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์น้ำรู และสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่โครงการบ้านเล็กในป่า ใหญ่ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้า จังหวัดพะเยา ให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีความรู้ในการปลูกข้าว ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่



พันธุ์ข้าวน้ำรูเป็นข้าวเจ้าได้จากการเก็บรวบรวมพันธุ์ จากชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอ บ้านน้ำรูดอยสามหมื่น อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพันธุ์ข้าวไร่ มีความสูงประมาณ 141 เซนติเมตรไวต่อช่วงแสงอย่างอ่อน ต้านทาน โรคเมล็ดด่างได้ดีในสภาพธรรมชาติไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ใบสีส้ม โรคใบหงิก โรคเขี้ยวเตี้ย โรคหูด และโรค ไหม้คอรวงไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ปลูกได้ในสภาพไร่พื้นที่สูง ตั้งแต่ 1,000 - 1,400 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง

นายพรเทพ กล่าวว่า “เราต้องรักษาพันธุ์ข้าวน้ำรูไว้ ยังคงจำเป็นต้องมีอยู่ แต่ถ้าเรารู้ว่า พันธุ์น้ำรู ยังต้องปรับปรุงตรงส่วนไหน เป็นหน้าที่ของกรมการข้าว ที่ต้องไปพัฒนาปรับปรุง หรือ รักษาเสถียรภาพของพันธุ์นี้ให้อยู่ เพราะบางทีพันธุ์น้ำรูอาจจะเป็นข้าวอัตลักษณ์ในพื้นที่นั้น ๆ  อีกทางหนึ่ง เราก็พยายามป้อนพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ  ให้เกิดความหลากหลายของพื้นที่อย่างน้อยทำให้เกษตรกรยอมรับหรือ พิจารณาแล้วว่า ข้าวไหน มีรสสัมผัสใกล้เคียงกับพันธุ์ถิ่นเดิม เค้าอาจต้องปรับตัวต่อไปในอนาคต

ณ ตอนนี้หนึ่งเราต้องให้ความรู้เค้าก่อน ในเรื่องของการเพาะปลูก เราพยายามที่จะให้เค้าทำการเกษตรแบบปราณีต ถึงแม้ว่าในพื้นที่ดังกล่าวจะมีการอ่อนไหวต่อการเข้าไปส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นความยากลำบากของเส้นทาง พื้นที่ค่อนข้างจำกัด ไม่เหมาะกับเทคโนโลยีใหญ่ แต่เป็นสิ่งที่ท้าทายแต่ สิ่งหนึ่งที่เราต้องมุ่งเน้น เราต้องฝึกให้เค้ามีความรู้  และยอมรับกับองค์ความรู้ใหม่ ที่กรมการข้าวได้พัฒนาขึ้นมาเสียก่อน”



 ความสำเร็จของโครงการได้หล่อหลอมรวมวิถีชีวิตแห่งการพัฒนา

“ความจริงโครงการพระราชดำริ โครงการนี้ กับวิถีชีวิตของเค้าเป็นของคู่กัน เนื่องจากเป็นโครงการที่ได้รับพระเมตตาที่กระทรวงเกษตรฯ เองอยากสนอง ไม่ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 พระพันปีหลวงด้วย ที่ทรงมุ่งเน้น ว่าจะเสริมสร้างความเข้มแข็งเฉพาะด้านให้กับ ประชาชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารและก็เป็นพื้นที่ที่ห่างไกล โครงการนี้ เป็นโครงการที่กรมการข้าวพยายามที่จะรักษาเราจะพัฒนาตรงจุดนั้น ให้เค้ามีความเข้มแข็ง วัตถุประสงค์หลักข้อแรก คือ การพัฒนาให้เค้ามีความเข้มแข็งก่อน และพึ่งพาตัวเองได้ อันนี้คือวัตถุประสงค์ที่เราต้องเร่งดำเนินการ แต่สิ่งอื่นสิ่งใดคือ มันควรใช้เวลาประมาณ 5 ปี ก็ไม่ได้ 10หรือ 20 ปี เพราะรุ่นของเกษตรกรจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ทุกคนต้องตระหนัก รวมถึงตัวของเจ้าหน้าที่ด้วย เปลี่ยนแปลงทั้งสองแบบ คือ ตัวเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและตัวเกษตรกรรุ่นใหม่ๆ ด้วย ที่เติบโตขึ้นมาทดแทนรุ่นเก่าๆ การเรียนรู้เหล่านี้ต้องเรียนรู้ไปพร้อม ๆกัน สิ่งหนึ่งที่เราพยายามคือ เรายังคงรักษาพืชพันธุ์เหล่านั้นให้คงอยู่ อาจมีการต่อยอด มีการเพิ่ม สร้างมูลค่า ให้เค้ามีความรู้สึกว่า สิ่งที่เค้ามีอยู่ มันมีค่าและเค้าสามารถใช้ประโยชน์ได้ พึ่งพาตนเองในชีวิตของเค้าเหล่านั้น” นายพรเทพกล่าวในที่สุด

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
สาระดีดีนิวส์ไทม์
สาระดีดีนิวส์ไทม์
สาระดีดีนิวส์ไทม์