สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์
จัดประชุมใหญ่ประจำปี 2567 ในโอกาสครบรอบการก่อตั้ง 20 ปี พร้อมทั้งจัดเสวนา
“การปรับแต่งจีโนมพืชเพื่อรับมือกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง”
เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล เกี่ยวกับการผลิตพืชด้วยเทคนิคจีโนม
เพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจให้มีลักษณะที่ดีทางการเกษตร
ดร.นิพนธ์
เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีขีวภาพสัมพันธ์ เปิดเผยว่า จีโนม คือ
ชุดดีเอ็นเอที่สมบูรณ์ในสิ่งมีชีวิต เช่น พืชหรือสัตว์ และ ดีเอ็นเอ หรือ
สารพันธุกรรม คือ กรดนิวคลิอิก ที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต
อยู่ในรูปของโครโมโซม ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมและถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะทางพันธุกรรมต่าง
ๆ ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งวางตัวอยู่ในส่วนนิวเคลียสภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต และ
การปรับแต่งจีโนม คือ
การปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขสารพันธุกรรมที่อยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต
เพื่อให้มีลักษณะที่ต้องการ เช่น การปรับแต่งจีโนมในมะเขือเทศ
เพื่อให้มีสารกาบาในปริมาณที่สูงกว่ามะเขือเทศทั่วไป 4 - 5 เท่า
และเทคนิคที่นิยมใช้ในการปรับแต่งจีโนม คือ ระบบ CRISPR/Cas9 ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ที่นำมาใช้ในการแก้ไขยีนเป้าหมาย
และได้ถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจหลายชนิด
ทำให้พืชมีลักษณะที่ดีทางการเกษตร
การผลิตพืชในปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง
ซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทำให้ความเข้มข้นของคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นจนเกินระดับสูงสุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์
ส่งผลให้เกิดภาวะภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและตามมาด้วยดินเค็ม
รวมทั้งเกิดการระบาดของศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตพืชและคุณภาพลดลง
ซึ่งนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางอาหารทั้งในปัจจุบันและอนาคต
การพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อสู้กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
ทำได้โดยการพัฒนาพืชให้ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น
การพัฒนาพันธุ์พืชทนแล้งหรือทนเค็ม รวมทั้งพันธุ์พืชที่ต้านทานต่อศัตรูพืช
เทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม
จัดเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการชะลอและลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีต่อการผลิตพืช
รวมถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหาร
และเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้การปรับปรุงพันธุ์พืชทำได้รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ
และมีประสิทธิภาพ มากกว่าวิธีการปรับปรุงพันธุ์ตามปกติ ซึ่งร้อยเอก ธรรมนัส
พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น ได้กล่าวว่า
ในภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วและรุนแรง จนเลขาธิการสหประชาชาติ
ได้ออกประกาศว่า “ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลง ยุคโลกเดือดมาถึงแล้ว” ซึ่งภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของศัตรูพืชอุบัติใหม่ที่สำคัญ
อาทิ โรคใบด่างมันสำปะหลัง โรคใบร่วงยางพารา
ประกอบกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก
ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่และเป็นครัวของโลก และรวมทั้งจากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการยกระดับรายได้เกษตรกร
3 เท่าใน 4 ปี การนำเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่มีความปลอดภัยสูง คุ้มค่า
พัฒนาได้รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ จึงมีความจำเป็น
และเนื่องในวันที่ใกล้จะครบรอบ
20 ปี ของสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ สมาคมจึงได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ
“การปรับแต่งจีโนมพืชเพื่อรับมือกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง และเพิ่มคุณภาพ
รวมทั้งการกำกับดูแล: กรณีศึกษา อ้อย มะละกอ และฟ้าทะลายโจร”
เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยที่มีความก้าวหน้าและมีศักยภาพที่จะถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์
และนำเสนอแนวทางการกำกับดูแลเมื่อต้องนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์
ร่วมกับการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 พร้อมกับการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ
ผู้ก่อตั้งสมาคม ซึ่งได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ
ดร. สุพัฒน์ อรรถธรรม และ คุณ ดรุณี เอ็ดเวิร์ดส
และผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับสมาคม ได้แก่ส Ms. Sonny P. Tababa (CropLife Asia) และ คุณ วิชา ธิติประเสริฐ ที่ปรึกษาสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์