วันนี้ (11 ธันวาคม 2567) นายเอกพจน์
ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย นำทีมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ
ประกอบด้วย นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ที่ปรึกษาสมาคม และประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมฯ
และประธานที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ นายปรีชา สุขเกษม อุปนายกสมาคมฯ และนายพิชญพันธุ์ สลิลปราโมทย์ กรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทยและประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงสถานการณ์กุ้งของไทย ปี 2567 ว่า
ผลผลิตกุ้งเลี้ยงโดยรวม อยู่ที่ 270,000 ตัน ลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาโรคระบาด สภาพอากาศแปรปรวน กระทบคุณภาพลูกกุ้ง และการเลี้ยงของเกษตรกร ราคากุ้งตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนชะลอการลงกุ้ง ชื่นชมรัฐบาล และกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งได้ประกาศนโยบายการแก้ไขปัญหากุ้งทะเลเป็นวาระแห่งชาติ เสนอของบ 2,000 ล้าน แก้ปัญหากุ้งทั้งระบบ เน้นแก้ปัญหาโรคกุ้งอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้ภายใน 3 ปี หยุดความเสียหายกว่า 600,000 ล้าน เพิ่มผลผลิตกุ้งคุณภาพ 400,000 ตัน
ทวงคืนมูลค่าการส่งออก 50,000 ล้าน กลับเข้าประเทศ
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตกุ้งของไทยปี 2567 ว่า ปริมาณผลผลิตกุ้งคาดว่าจะได้ประมาณ 270,000 ตัน ลดลงร้อยละ 4 จากปีที่แล้ว เป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนบน ร้อยละ 37 ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามัน ร้อยละ 23 จากภาคตะวันออก ร้อยละ 20 จากภาคกลาง ร้อยละ 10 ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย ร้อยละ 10 ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ
5.04 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 4 โดยผลผลิตจากประเทศผู้ผลิตหลักทั้งจีน เอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนาม ลดลงทุกประเทศ ส่วนการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค. – ต.ค. ปีนี้อยู่ที่ปริมาณ 109,048 ตัน
มูลค่า 33,954 ล้านบาท ปริมาณลดลง
ร้อยละ 1 ส่วนมูลค่าลดลง ร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ที่ส่งออกปริมาณ 109,663 ตัน มูลค่า 36,284 ล้านบาท”
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ที่ปรึกษาสมาคม
และประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคตะวันออกคาดการณ์ผลผลิตประมาณ 53,900 ตัน คิดเป็นร้อยละ 20 ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 20 เนื่องจากเกษตรกรปล่อยกุ้งลดลง และชะลอการลงกุ้ง ปัญหาโรคระบาด EHP ตัวแดงดวงขาว และโรคตายด่วน อย่างไรก็ตาม
ช่วงปลายปีเกษตรกรเริ่มลงกุ้งต่อเนื่องเพราะราคาจูงใจ
สำหรับสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคกลางผลผลิตประมาณ 26,900 ตัน คิดเป็นร้อยละ 10 ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ ลดลงร้อยละ 19 ช่วงไตรมาสแรกการเลี้ยงดี
แต่ไตรมาสที่สองและสาม ประสบปัญหาโรคขี้ขาว และสภาพอากาศร้อนจัด
ส่งผลให้อัตรารอดต่ำ ลูกกุ้งไม่เพียงพอ ราคากุ้งค่อนข้างดี โดยเฉพาะตลาดในประเทศ
ส่งผลให้เกษตรกรมีการเตรียมตบ่อเพื่อลงกุ้งมากขึ้น
นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทย
และประธานที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ เปิดเผยถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามัน คาดการณ์ผลผลิตประมาณ 61,100 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 7 โดยมีความเสียหายจากโรคตัวแดงดวงขาวในช่วงเปลี่ยนฤดู
และปัญหาเชื้อโรคปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติ เกษตรกรมีการวางแผนการเลี้ยงโดยลดความหนาแน่น
เพื่อลดความเสี่ยงการเลี้ยงช่วงปลายปี บางส่วนเปลี่ยนไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำ
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องโรค
นายปรีชา สุขเกษม อุปนายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวถึงผลผลิตกุ้งภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย ปริมาณ 28,400 ตัน คิดเป็นร้อยละ 10 ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ ลดลงร้อยละ 2 ปัญหาหลักคือ ปัญหาโรคระบาด โดยเฉพาะขี้ขาว และ EHP ทำให้เกษตรกรต้องจับกุ้งก่อนกำหนด
และสภาพอากาศแปรปรวนส่งผลให้การเลี้ยงกุ้งยากขึ้น
เกษตรกรต้องปรับตัวโดยการพักบ่อนานขึ้น
ลดความหนาแน่นในการเลี้ยงกุ้งเพื่อลดความเสี่ยง
นายพิชญพันธุ์ สลิลปราโมทย์ กรรมการบริหารสมาคม
และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงผลผลิตกุ้งพื้นที่ภาคใต้ตอนบนประมาณการผลผลิต 99,700 ตัน คิดเป็นร้อยละ 37 ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 โดยเกษตรกรลงกุ้งเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมาเนื่องจากราคากุ้งปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศแปรปรวนส่งผลให้การเลี้ยงยากขึ้น
และพบเชื้อในแหล่งน้ำธรรมชาติ
ทำให้เกษตรกรให้ความสำคัญกับระบบการป้องกันโรคมากขึ้น”
“ความเสียหายที่อุตสาหกรรมเผชิญมาตลอดสิบกว่าปี จากปัญหาโรคระบาด EMS หรือโรคตายด่วน ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรพยายามทุ่มเททุกอย่างเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง
และความช่วยเหลือจากกรมประมง แต่ยังไม่สามารถก้าวผ่านปัญหาโรคระบาดได้
สิ่งที่ภาครัฐต้องทำอย่างเร่งด่วน และเป็นข้อเสนอของพันธมิตรผู้เลี้ยงกุ้งไทย
ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของ 19 องค์กรเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ที่มีมติร่วมกันในการยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงเกษตรฯ และเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้รับการตอบรับจากกระทรวงฯ โดยได้มีการประกาศยกระดับเรื่องการแก้ปัญหากุ้งทะเลเป็นวาระแห่งชาติ
เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ทำให้ผมเริ่มมีความหวังว่าจะเห็นผลการดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรม โดยพันธมิตรผู้เลี้ยงกุ้งไทยเสนองบประมาณสำหรับการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมกุ้ง 2,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาเรื่องโรคกุ้งภายในสามปี เพื่อหยุดความเสียหายประมาณ 600,000 ล้าน ตลอดสิบปีที่ผ่านมา เพื่อเอา 50,000 ล้านกลับมา
สิ่งที่เกษตรกรเรียกร้อง
และรัฐบาลต้องช่วยเหลือเพราะวันนี้เกินกำลังของพวกเราแล้วคือ
การแก้ปัญหาเรื่องโรคให้ได้ โดยรัฐต้องมีมาตรการในการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม
เพื่อแก้ปัญหาโรคให้ได้ภายใน 3 ปี ซึ่งหากรัฐบาลทำเรื่องนี้สำเร็จ เกษตรกรจะสามารถบรรลุเป้าหมายผลผลิต 400,000 ตัน ซึ่งเป็นผลผลิตคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
และเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรหลักสำคัญที่ทำรายได้กลับคืนมาให้กับประเทศได้อีกครั้งอย่างแน่นอน ” นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าว