นายอำเภอแหลมสิงห์
เร่งฟื้นฟูพื้นที่บ่อกุ้งร้างโดยนำแนวทาง SEDZ
พัฒนา ก่อให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบกินปูดูเหยี่ยว พักโฮมสเตย์
หวังสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่
นางสาวรัศมินท์ พฤกษาทร นายอำเภอแหลมสิงห์
เปิดเผยถึงโครงการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยใช้แนวทางเขตเศรษฐกิจพอเพียง(SEDZ) การส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการท่องเที่ยวอำเภอแหลมสิงห์
จังหวัดจันทบุรี
ซึ่งมีแนวคิดเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องโดยร่วมกับสำนักทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่
1 จังหวัดระยอง ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น มีสมาชิกเข้าร่วมดำเนินการ
408 ครัวเรือน โดยนำที่ดินเข้าร่วมโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง SEDZ(SEDZ :
Sufficiency Economy Development Zones) การส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการท่องเที่ยว
กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
นอกจากนี้ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะนำพื้นที่บ่อกุ้งรกร้างมาปรับปรุง
ทำคันดิน เพื่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
ซึ่งชาวบ้านได้จัดคิวหมุนเวียนโดยนำรถแม็คโครมาปรับปรุงพื้นที่ โดยเฉพาะทำคันดิน
รวมทั้งมีการปักหมุด เพื่อป้องกันไม่ให้รุกล้ำพื้นที่ป่า
อีกทั้งทางกรมประมงยังได้นำพันธุ์สัตว์น้ำมาปล่อยในพื้นที่ป่าไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ปลา
พันธุ์ปู และพันธุ์กุ้ง
พระปลัดสาธิต สุจิณโณ วัดบางสระเก้า
ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์
เข้าใจปัญหาที่ชาวบ้านต้องเผชิญเล่าให้ฟังว่า“เดิมชุมชนแถบนี้มีรากฐานมาจากสมัยอยุธยา
อาชีพเดิมทำนาข้าว ป่าจากไว้มุงหลังคา สร้างบ้าน มาเปลี่ยนเป็นนากุ้งในปี 2528
เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์ตามการเวลา ส่งผลที่ดินเสียหายเสื่อมโทรม
ประกอบกับเกิดปัญหาน้ำยกตัว
ดินไหลลงคลองทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา
พอมาถึงยุคนี้ชาวบ้านเจอปัญหาเรื่องกฎหมายทับซ้อนพื้นที่ที่ชาวบ้านเคยทำกินกันมา
ขาดเอกสารสิทธิ์แสดงความเป็นเจ้าของแม้จะอยู่อาศัยมานาน
ทำให้ไม่สามารถปรับปรุงพื้นที่ทำกินนั้นๆ ได้
ชาวบ้านพยายามต่อสู้ว่าเขาอยู่มานานตั้งแต่ปู่ย่าตายาย
จึงมาริเริ่มจัดกระบวนการกันใหม่ภายใต้กรอบของกฏหมายให้ชาวบ้านในพื้นที่อยู่ได้และมีที่ดินทำกิน”
ด้านนายธาวิต สุขสิงห์
ประธานวิสาหกิจชุมชน ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
กล่าวว่าพื้นที่บ่อกุ้งร้างประสบปัญหาส่งผลกระทบทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำได้
แต่ในพื้นที่ยังมีป่าตะกาดรูปหัวใจที่มองภาพจากทางอากาศเป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์
ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้พิทักษ์ป่า ดูแลป่าชายเลนกว่า 400 ไร่
แห่งนี้เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารในการสร้างรายได้
ขณะเดียวกันยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตอีกด้วย นอกจากนี้ได้มีการวางแผนว่าบ่อกุ้งจำนวน
200 กว่าบ่อที่เป็นน้ำเค็มจะพัฒนาเรียนแบบโครงการโคกหนองนา
แต่จะเป็นรูปแบบของโคกหนองนาน้ำเค็ม โดยจะเลี้ยงกุ้ง ปู และปลา
โดยเน้นการเลี้ยงแบบปลอดสารพิษ
อย่างไรก็ตามอำเภอแหลมสิงห์มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยว
”โฮมสเตย์ กินปู ดูเหยี่ยว” ในรูปแบบปุฟเฟ่ต์อาหารทะเลเติมได้ไม่อั้น
ซึ่งเป็นจุดขายที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น
ทำให้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีจุดเด่นดึงดูดนักท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต