โครงการสถานีพัฒนาพื้นที่สูงตามพระราชดำริบ้านสันติสุข-บ้านขุนกำลัง
มีพื้นที่ดำเนินการอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้างและหน่วยศึกษาการพัฒนาการอนุรักษ์ต้นน้ำดอยผาจิ
เป็นพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 380-1,411 เมตร ประกอบไปด้วย 2 หมู่บ้าน คือบ้านสันติสุขและบ้านขุนกำลัง เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้งและประกอบอาชีพทำการเกษตรหาของป่าและรับจ้าง
กรมการข้าวโดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพะเยา
ได้เข้าไปดำเนินการเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่โดยการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการผลิตข้าวและเทคโนโลยีที่ถูกต้องและเหมาะสม
จัดทำแปลงเรียนรู้การผลิตข้าวแบบเกษตรกรมีส่วนร่วมเพื่อให้เกษตรกรมีความรู้และสามารถผลิตข้าวเพียงพอต่อการบริโภคและมีความมั่นคงทางด้านอาหาร
นายพรเทพ สีวันนา นักวิชการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่า พื้นที่ดำเนินการบ้านสันติสุข บ้านขุนกำลัง มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง
เราพยายามที่จะสนับสนุนมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ความรู้ ตลอดจนพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม
หลังจากนี้เราจะทำให้ชาวบ้านได้รู้จักวิเคราะห์ เข้าใจในการพัฒนาต่อยอด ในเรื่องของการตลาด
ด้านการแปรรูป ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่นอกเหนือจากการพอมีพอกินแล้ว เป็นการเพิ่มมูลค่าและยังเป็นการรักษาฐานเกษตรกรรุ่นใหม่
ให้ยังคงอยู่ในชุมชนดังกล่าว ในหมู่บ้านแห่งนี้ สำหรับพันธุ์ข้าวที่เราไปสนับสนุนจะแตกต่างจากพันธุ์ข้าวบนภูเขาทั่วไป
เนื่องจากความผันแปรไปตามลักษณะเฉพาะพื้นที่ และระดับน้ำทะเล ที่เป็นปัจจัยต่อพันธุ์พืช
โดยที่เราได้เข้าไปทดสอบทำแปลงสาธิต และส่งเสริมพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ที่ปรับตัวได้ดีต่อพื้นที่
“พวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวม้ง
ที่ค่อนข้างจะมีความสนใจ ตอบสนองต่อการโครงการต่างๆ
ของภาครัฐ นี่คือจุดแข็งของเกษตรกรกลุ่มนี้ อีกทั้งเป็นผู้นำชุมชน หรือเป็นกลุ่มชนที่มีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
และมีวัฒนธรรมสอดคล้องกับวิธีการทำนาด้วย มีเรื่องการตลาดการซื้อขายในชุมชน
และยังสามารถสร้างแหล่งท่องเที่ยวชุมชน จึงเป็นจุดที่กรมการข้าวจะเข้าไปส่งเสริมและต่อยอด”
นายพรเทพ สีวันนา กล่าว
ทางด้าน นายจตุรงค์ นิธิเกษตรสมบัติ หนึ่งในเกษตรกรบ้านขุนกำลัง กล่าวว่า ตนเองมีพื้นที่ทั้งหมด
7 ไร่ นำข้าวมาปลูกซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ กข.21
ที่ทางกรมการข้าวเข้ามาส่งเสริมและให้ทดลองปลูก ทดแทน พันธุ์พื้นเมือง
ที่ปลูกต่อเนื่องมายาวนาน จนพบว่า ข้าวมีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นกว่าเดิมถึง 700
กิโลกรัมต่อไร่ ตนจึงตัดสินใจปลูกข้าวพันธุ์ กข. 21 ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้ว สำหรับการดูแลข้าวพันธุ์
กข. 21 ก็เหมือนกับดูแลข้าวพันธุ์อื่นทั่วๆไป แต่ให้ผลผลิตมากกว่า ส่วนปัญหาที่มักประสบอยู่เสมอคือ
ราคาค่าปุ๋ย และ ยา ที่เพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรในพื้นที่จึงแก้ปัญหาโดยหันมาใช้ปุ๋ยหมัก
ที่ได้รับการส่งเสริมจากกรมพัฒนาที่ดินแทน “ตอนนี้หลายครัวเรือนก็หันมาปลูกข้าวพันธุ์
กข. 21 กันแล้ว หลังจากที่เห็นตนปลูกแล้วได้ผลดี
อีกทั้งบนดอยเราจะกินข้าวเจ้ากันเป็นหลัก อย่างไรก็ตามผลผลิตที่ได้จะนำไปบริโภคภายในครัวเรือนเป็นหลัก
ส่วนที่เหลือก็จะเก็บไว้ขาย” นายจตุรงค์
นิธิเกษตรสมบัติ กล่าวในที่สุด