ม.เกริก ตอกย้ำปรัชญาความรู้คู่คุณธรรม
จัดประชุมวิชาการนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ครั้งที่ 20 มุ่งประสานแนวร่วมทั้งระดับชุมชนและระดับนานาชาติ
บูรณาการองค์ความรู้ หนุนบุคลากรที่มีจริยธรรม
เพื่อแลกเปลี่ยนนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ นำไปใช้ได้พัฒนาชุมชนจนถึงระดับประเทศได้อย่างมั่นคงยั่งยืน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานเปิดงาน
กล่าวว่า การประชุมเกริกวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 20 ประจำปี พ.ศ.2567 ภายใต้หัวข้อ
นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสังคมที่ยั่งยืน หรือ Innovation and Technology
for a Sustainable Society ในครั้งนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
20 ปี ที่มุ่งเน้นยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม
และที่สำคัญคือคุณภาพชีวิตของประชาชน อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม
ว่าด้วยการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมแก้ไขปัญหาของประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ข้อมูล
ความรู้ และวิทยาการต่าง ๆ เพื่อบรรลุผลสัมฤทธิ์
ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้คณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และภาคส่วนต่าง ๆ
รวมมากกว่า 1,000 คนได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์
และนำเสนอองค์ความรู้ที่ผ่านกระบวนการศึกษา ค้นคว้าวิจัย
จนเกิดเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง
ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน
ภาคการศึกษา และภาคประชาชนในการทำงานร่วมกัน
หัวข้อการประชุมยังได้ประยุกต์ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ
ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 มาต่อยอดเพื่อทำให้การขับเคลื่อนแผนพัฒนา
ฯ ของประเทศบรรลุวัตถุประสงค์ อาทิ
กลยุทธ์การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า
เพื่อให้เกิดการยกระดับกระบวนการผลิต
กลยุทธ์การสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และดิจิทัล
อีกทั้งกลยุทธ์การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ให้มีคุณภาพเพียงพอ
และปรับตัวได้ทันต่อความต้องการของอุตสาหกรรมและบริการในพื้นที่
เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและบริการได้อย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อพลิกโฉมประเทศไปสู่การขับเคลื่อนที่ใช้นวัตกรรมเป็นฐาน
เป็นต้น
“การประชุมวิชาการที่มหาวิทยาลัยเกริกจัดขึ้นครั้งนี้ได้ให้โอกาสนักวิจัยทั้งระดับชุมชน
ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และนักวิจัยต่างชาติเข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกัน
เห็นได้จากการนำผลการวิจัยที่คณาจารย์และนักวิจัยชุมชนร่วมกันทำการวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นมานำเสนอ
ร่วมกับการบรรยายพิเศษจากนักวิชาการของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีโอกาสรับฟังทัศนะ แนวคิด
รวมทั้งมุมมองใหม่ของประเทศในแถบอาเซียน ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์กับบริบทของประเทศไทย
สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ร่วมประชุมสามารถเรียนรู้ตัวอย่างความสำเร็จในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการพัฒนาสังคม
พัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยส่งเสริมให้เกิดนักคิด นักสร้างสรรค์
ผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ที่เป็นคนดี มีจริยธรรม คุณธรรม มีศักยภาพในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน
รวมไปถึงประโยชน์ต่อรัฐที่จะได้นำไปปรับใช้เพื่อกำหนดนโยบายของภาครัฐ
และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากเกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยที่เราจะได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ตรงประเด็นแล้ว
ในทางปฏิบัติยังช่วยให้การพัฒนาชาติบ้านเมืองดำเนินไปอย่างมั่นคง ประชาชนอยู่ดีเป็นสุข
บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศต่อไป” ประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าว
รศ.สุพัฒน์
ธีรเวชเจริญชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า
การจัดประชุมเกริกวิชาการได้ดำเนินการมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 20 ในแต่ละปีมหาวิทยาลัยจะกำหนดหัวข้อการประชุมให้สอดคล้องกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ
สังคม การเมือง แนวทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งกระแสโลก
เพื่อค้นหาคำตอบหรือทางออกที่เหมาะสมกับบริบทในแต่ละสถานการณ์
โดยยังคงอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่ว่า “องอาจด้วยความรู้ คู่คุณธรรม”
และปรัชญาของมหาวิทยาลัย คือ “ความรู้ทำให้องอาจ” โดยในปีนี้ได้จัดการประชุม ฯ
ในวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2567 หัวข้อการประชุมคือ
นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสังคมที่ยั่งยืน อันเนื่องมาจาก
ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญปัญหาหลายด้าน เช่น ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสื่อมสภาพของระบบนิเวศ ความไม่มั่นคงทางการเมือง
ปัญหาด้านเทคโนโลยีและความเป็นส่วนตัว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ฯ ซึ่ง
ม.เกริกเล็งเห็นถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกยุคปัจจุบันนี้ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
อีกทั้งทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ยั่งยืน
ที่จะมาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนในสังคม ช่วยรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ
สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ทำให้การเจริญเติบโตเป็นไปด้วยความมั่นคง ยั่งยืน
“มหาวิทยาลัยเกริกเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจ
ช่วยสร้างงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการพัฒนาแบบยั่งยืน
จึงเปิดเวทีให้คณาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ
และผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชา
ได้มาแลกเปลี่ยนผลการวิจัยหรือข้อค้นพบใหม่ที่จะช่วยให้สังคมมีองค์ความรู้ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
มีการนำข้อค้นพบใหม่จากผลวิจัยไปสร้างสรรค์ต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่เกิดคุณูปการต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นได้ภายในงานได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
หรือ CBR ซึ่งม.เกริก
ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 10
ปี จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ 1.การสร้างคุณค่าเชิงพหุวัฒนธรรมด้วยอาหารท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาตำบลพิมลราช
จังหวัดนนทบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยว 2.การพัฒนาร้านค้าหน้าบ้านสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก
โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนหน้าท่าอากาศยานด้านใต้เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร และ 3.การพัฒนาทักษะชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พื้นที่ ต.ลำโพ
อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ผลงานทั้ง 3 ได้รับการยอมรับว่าแก้ปัญหาให้ชุมชน
ยกระดับชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ดี” รศ.สุพัฒน์ กล่าว
รองอธิการบดีฯ
ม.เกริก กล่าวต่อว่า ภายในงานยังจัดบรรยายพิเศษจาก Mr.Umi
Mahmudah นักวิชาการจากประเทศอินโดนีเซีย หัวข้อ From Local
Wisdom to Global Goals : Bridging Innovation and SDGs in Indonesian Villages จัดการนำเสนอผลงานวิจัยทางวิชาการทั้งระดับชาติและนานาชาติของคณาจารย์จาก
ม.เกริก มหาวิทยาลัยเครือข่าย นักวิชาการอิสระ และนักศึกษาที่ค้นคว้าในรูปแบบ Oral
และ Poster กว่า 70 ผลงาน
ผู้เข้าร่วมการประชุมจากสถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
ประชาชนทั่วไป สามารถนำผลการวิจัยซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์ได้เป็นอย่างดี
“กล่าวโดยสรุป
การจัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติครั้งนี้
ไม่เพียงแต่สร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยน แบ่งปันประสบการณ์ ความรู้
และช่วยเสริมสร้างสังคมให้เจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเท่านั้น
แต่ยังเป็นก้าวที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือในการทำผลงานทางวิชาการระดับชาติและนานาชาติ
โดยไม่ข้ามผ่านชุมชนท้องถิ่นซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน
โดยไม่ละทิ้งคุณธรรมอันดีงาม” รศ.สุพัฒน์ กล่าวในตอนท้าย