นายอัครา พรหมเผ่า
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) “ชาวนายุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ
ลดและงดการเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM
2.5 และเพื่อการผลิตข้าวที่ยั่งยืน”
ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตามนโยบายของรัฐบาล ณ
ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
โดยการจัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีในวันนี้
จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าวอย่างปลอดภัยด้วยการจัดการตอซังและฟางข้าว
ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อปลอดการเผา และผลิตข้าวอย่างยั่งยืน
ให้แก่เกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ ศูนย์ข้าวชุมชน smart farmer ชาวนาอาสา
ผู้นำองค์กรชาวนา และประชาชนทั่วไป
ได้รับรู้ถึงผลกระทบจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
วิธีการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
ตลอดจนให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการงดเผาตอซังและผลิตข้าวอย่างปลอดภัย
เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จนเกินค่ามาตรฐาน
ส่งผลกระทบต่อด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว
สำหรับกิจกรรมภายในงาน
ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการภายใต้หัวข้อ “ชาวนายุคใหม่
ใส่ใจสุขภาพ…ลดและงดการเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร
เพื่อการผลิตข้าวที่ยั่งยืน” เพื่อสร้างความเข้าใจในการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
ลดหรืองดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซัง
การใช้เครื่องอัดฟาง การใช้ประโยชน์ตอซังและฟางข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่า
ตลอดจนการจัดกิจกรรมแสดงและสาธิต เช่น การแสดงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากฟางข้าว
การสาธิตการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังให้เหมาะสมและถูกต้อง
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลายพื้นที่ในภาคเหนือ
ยังคงเผชิญวิกฤติฝุ่น PM 2.5
เกินค่ามาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่
ซึ่งเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวอันดับที่ 1 ของเอเชีย และเป็นอันดับที่ 2 ของโลก
(การจัดอันดับ World’s Best Awards ของนิตยสารทราเวล แอนด์
เลซเซอร์ ปี 2559) ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM
2.5 และเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นควัน สาเหตุหลักคือ
การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว
จึงได้ร่วมกันสร้างจิตสำนึกในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้เกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ลดการเผา ที่จะสามารถช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
ฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ “นาแปลงใหญ่”
ที่เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มผลิต และบริหารจัดการผลิตข้าว
มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ กลุ่มเกษตรกรให้มีความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ห่วงโซ่การผลิตข้าวแบบเดิม
โดยการผสานเชื่อมโยงกันตั้งแต่เริ่มการจัดการการเพาะปลูกข้าวไปจนถึงการตลาด
โดยกระบวนการรับรองการผลิตข้าวมีทั้งการรับรองรายเดี่ยวและการรับรองแบบกลุ่ม
ซึ่งการขอการรับรองแบบกลุ่มนั้น จะช่วยประหยัดงบประมาณและเวลา
สร้างความเข็มแข็งและความยั่งยืนในการผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกร
ด้าน นายณัฏฐกิตติ์
ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มว่า ที่ผ่านมา กรมการข้าว
ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่เกษตรกรเผาฟางข้าว
ได้มอบหมายให้สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ
คิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกรไม่เผาฟาง
จึงได้คิดค้นจุลินทรีย์ชีวภัณฑ์ที่ช่วยในการย่อยสลายตอซังและฟางในนาข้าว
โดยมีประสิทธิภาพ สามารถย่อยสลายได้ภายใน 7 - 10 วัน
อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้กับนาข้าว ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้สูงสุด 20%
- 30% เพื่อให้เกษตรกรหยุดการเผาไร่นา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดฝุ่น PM
2.5 ได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้
กรมการข้าวยังได้ถ่ายทอดวิธีการปลูกข้าวให้แก่เกษตรกร
โดยเป็นการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง
ซึ่งเป็นเทคนิคการจัดการน้ำในแปลงนาที่มีประสิทธิภาพ
สามารถให้น้ำได้ตามความต้องการของข้าวในแต่ระยะการเจริญเติบโต โดยปล่อยให้น้ำแห้งตามธรรมชาติ
เพื่อให้ดินมีการระบายน้ำและอากาศที่ดี กระตุ้นให้รากและลำต้นข้าวมีความแข็งแรง
โดยเทคนิคการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งดังกล่าว
สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าวและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้
ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาค่ามลพิษทางอากาศ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ที่เป็นปัญหาใหญ่ในการดำเนินชีวิต
และมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ