หลายพื้นที่ในภาคเหนือ
ยังคงเผชิญวิกฤติฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวอันดับที่
1 ของเอเชีย และเป็นอันดับที่ 2 ของโลก (การจัดอันดับ World’s Best Awards ของนิตยสารทราเวล
แอนด์ เลซเซอร์ ปี 2559) ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก
PM 2.5 และเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นควัน
สาเหตุหลักคือ การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
กรมการข้าว ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว
จึงได้จัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) “ชาวนายุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ ลดและงดการเผาตอซัง ฟางข้าว
และเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และ
เพื่อการผลิตข้าวที่ยั่งยืน” ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตามนโยบายของรัฐบาล
โดยจัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าวอย่างปลอดภัยด้วยการจัดการตอซังและฟางข้าว
ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อปลอดการเผา และผลิตข้าวอย่างยั่งยืน
ให้แก่เกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ ศูนย์ข้าวชุมชน smart farmer ชาวนาอาสา ผู้นำองค์กรชาวนา และประชาชนทั่วไป ได้รับรู้ถึงผลกระทบจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
วิธีการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
ตลอดจนให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการงดเผาตอซังและผลิตข้าวอย่างปลอดภัย
เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
จนเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว
นายอร่าม
หล้าทิพย์ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวตำบลดอยหล่อ และเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่
2 เกษตรกรดีเด่นระดับชาติ สาขาอาชีพทำนา ประจำปี 2567 เปิดเผยว่า กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวตำบลดอยหล่อ
มีพื้นที่กว่า 44 ไร่ มีการจัดสรรพื้นที่ ปลูกข้าว ปลูกพืชผสมผสาน โดยยึดหลัก
“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พออยู่ พอกิน”
พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอดอยหล่อ (ศพก.)
การใช้ที่ดินทุกตารางนิ้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ด้วยความมานะพยายามของสมาชิกในชุมชน ลดการพึ่งพาจากปัจจัยภายนอก ใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในชุมชน โดยการแบ่งกลุ่มสมาชิกในชุมชนทำกิจกรรม ภายในศูนย์ เช่น การปลูกพืชไร่นาสวนผสม
การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงปลา การปลูกผักสวนครัว
การทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น โดยที่ผ่านมาได้มีการส่งออกผลผลิตข้าวที่ได้รับการรับรองอินทรีย์ไทย
ให้กับบริษัทรีเบอร์ไรซ์ จำกัด ไปยังประเทศดูไบ และส่งผลผลิตข้าวอินทรีย์ให้กับ
บริษัท ภูฐาปัญญาออแกนิค จำกัด
เพื่อใช้สำหรับแปรรูปผลผลิตเป็นเครื่องสำอาง ได้แก่ สบู่ ลิปสติก โลชั่น
ในแบรนด์ Lung Aram organing rice
นายอร่าม กล่าวต่อว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5
เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่อย่างมาก
โดยเฉพาะกับตัวผมเองที่เคยประสบกับปัญหาสุขภาพจากหมอกควันในปี 2562
เนื่องจากการเจ็บป่วยในครั้งนั้น โดยต้นตอปัญหาหมอกควัน คือการเผาพืชผล
โดยเฉพาะในส่วนของชาวนา ที่เกิดจากการเผาตอซังและฟางข้าว
ผมอยากให้หันมาหยุดการเผาตอซังและฟางข้าว และเลือกที่จะไถกลบตอซังแทน
ซึ่งวิธีนี้ไม่เพียงแต่สามารถทำปุ๋ยหมักที่มีประโยชน์ต่อดินในนาข้าวได้
แต่ยังสามารถผลิตปุ๋ยหมักจากฟางอัดแท่งที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพิ่มเติม เช่น การใส่เชื้อเห็ดฟาง
เพื่อเพิ่มรายได้จากการขายเห็ดฟางได้อีกด้วยหลังจากที่ฟางย่อยสลายแล้ว
ยังสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยในการปลูกข้าวได้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการผลิตและสร้างความยั่งยืนให้กับการทำเกษตรกรรมของชาวนา
นอกจากนี้ยังเป็นการลดปัญหาหมอกควันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำให้สุขภาพของคนเชียงใหม่ดีขึ้น
และนำไปสู่ความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว
นางสาวอัจฉรา จุมภูก๋า ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่ตำบลทุ่งสะโตก และเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 เกษตรกรดีเด่นระดับชาติ
สาขาอาชีพทำนา ประจำปี 2566 เปิดเผยว่า กลุ่มนาแปลงใหญ่ตำบลทุ่งสะโตก
มีความใส่ใจถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกิจกรรมทางการเกษตร
จึงได้สร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับเหล่าเกษตรกร โดยการจัดกิจกรรม
ลดการเผา เช่น การอัดฟางก้อน การทำปุ๋ยหมักจากฟางข้าว
การไถกลบตอซังหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี อีกทั้งกรมการข้าว
โดยเฉพาะศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ และศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่ ได้เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้
สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรม
ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวถือเป็นแนวทางที่มีศักยภาพเชิงต้นทุนเป็นอย่างมาก
เมื่อเปรียบเทียบกับภาคกิจกรรมอื่นๆ
อีกทั้งยังสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระยะยาว (Long-term
climate objectives) อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของกิจกรรมการเกษตรเหล่านี้อาจแตกต่างกันเมื่อนำไปใช้ในระบบเกษตร
เนื่องจากมีความแตกต่างในเรื่องของรูปแบบการเพาะปลูก ชนิดพันธุ์พืชและสัตว์
และสภาพภูมิอากาศ
ดังนั้นจึงไม่มีแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ทุกกรณี
และควรมีการศึกษาเพิ่มเติมและพิจารณาความเหมาะสมของกิจกรรมการเกษตรก่อนนำไปประยุกต์ใช้ในกรอบของสภาพแวดล้อม
สังคม และเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ต่อไป
นางสาวอัจฉรา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากลุ่มนาแปลงใหญ่ตำบลทุ่งสะโตก
ได้ส่งผลผลิตข้าว และร่วมคิดค้นสูตรผลิตภัณฑ์ กับบริษัทกรีนเนเจอร์ เกรนส์ แอนด์ นู้ดเดิ้ล
จำกัด เพื่อใช้สำหรับแปรรูปผลผลิตข้าว เป็นเส้นราเมนอบแห้ง
เส้นมาม่า เส้นอูด้ง รสชาติต่าง ๆ ในแบรนด์ Happy noodles
อีกทั้งยังรวบรวมผลผลิตข้าวของกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชน นาแปลงใหญ่
แปรรูปเป็นข้าวแพคถุง ในแบรนด์ ข้าวชุมชนบ้านร้องตีมีด ด้วยศักยภาพการผลิตและการต่อยอดผลิตภัณฑ์ข้าวของกลุ่มฯ
จึงทำให้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการต่าง ๆ เช่น งบประมาณเครื่องจักรกลทางการเกษตรภายใต้โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด
งบประมาณเครื่องจักรกลทางการเกษตร เครื่องอัดฟางข้าว จากสโมสรโรตารี่ ไทยแลนด์ และงบประมาณเครื่องจักรกลทางการเกษตร
(รถเกี่ยวนวดข้าว) ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเครื่องจักรแบบกลุ่ม
ภายใต้โลโก้ คูโบต้าร่วมมือเกษตรร่วมใจ ของบริษัท สยามคูโบต้า
กรมการข้าว ได้ร่วมกันสร้างจิตสำนึกในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
ให้เกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการเผา
ที่จะสามารถช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
ฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ
โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ “นาแปลงใหญ่”
เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มผลิต และบริหารจัดการผลิตข้าว มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่
กลุ่มเกษตรกรให้มีความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ห่วงโซ่การผลิตข้าวแบบเดิม
โดยการผสานเชื่อมโยงกันตั้งแต่เริ่มการจัดการการเพาะปลูกข้าว ไปจนถึงการตลาด โดยกระบวนการรับรองการผลิตข้าวมีทั้งการรับรองรายเดี่ยวและการรับรองแบบกลุ่ม
ซึ่งการขอการรับรองแบบกลุ่มนั้น จะช่วยประหยัดงบประมาณและเวลา
สร้างความเข็มแข็งและความยั่งยืนในการผลิตให้กับ กลุ่มเกษตรกร ที่ผ่านมากรมการข้าว ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้น
ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่เกษตรกรเผาฟางข้าว
จึงมอบหมายให้สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ
คิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกรไม่เผาฟาง
จึงได้คิดค้นจุลินทรีย์ชีวภัณฑ์ที่ช่วยในการย่อยสลายตอซัง และฟางในนาข้าว โดยมีประสิทธิภาพ
สามารถย่อยสลายได้ภายใน 7-10
วัน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้กับนาข้าว
ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้สูงสุด 20% - 30% เพื่อให้เกษตรกรหยุดการเผาไร่นา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ กรมการข้าวได้ถ่ายทอดวิธีการปลูกข้าวให้แก่เกษตรกร
โดยเป็นการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นเทคนิคการจัดการน้ำในแปลงนาที่มีประสิทธิภาพ
สามารถให้น้ำได้ตามความต้องการของข้าวในแต่ระยะการเจริญเติบโต โดยปล่อยให้น้ำแห้งตามธรรมชาติ
เพื่อให้ดินมีการระบายน้ำและอากาศที่ดี กระตุ้นให้รากและลำต้นข้าวมีความแข็งแรง
โดยเทคนิคการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งดังกล่าว สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าวและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาค่ามลพิษทางอากาศ
PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน
ที่เป็นปัญหาใหญ่ในการดำเนินชีวิต และมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ