ARDA
ดัน จ.เชียงราย
ขึ้นแท่นศูนย์กลางพัฒนานวัตกรรมแปรรูปวัตถุดิบท้องถิ่น ด้วยนวัตกรรมงานวิจัยจาก “RAINS
for Eastern Lanna Food Valley” ตั้งเป้าสร้างสินค้าป้อนตลาดเกษตรพรีเมียม
50 ล้านภายในปี 10 ปี
ท่ามกลางความท้าทายของภาคการเกษตรไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกสินค้าการเกษตรคุณภาพสูงแต่กลับเผชิญปัญหาด้านมูลค่าผลผลิต
การแข่งขันในตลาด และการพัฒนาเทคโนโลยีแปรรูป โครงการ RAINS
for Eastern Lanna Food Valley ถูกขับเคลื่อนขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้
โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) – ARDA
นางสาวกุลวรา
โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า
แผนงานวิจัยการบริหารจัดการ RAINS for Eastern Lanna Food Valley (Increase
the value of agricultural products and food by BCG model เป็นงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก
ARDA ต่อเนื่อง 2 ปี โดยมีศาสตราจารย์ปวีณา ลี้ตระกูล
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยฯ
ดำเนินการร่วมกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
4 จังหวัด ได้แก่ ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ เพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบท้องถิ่น
โดยตั้งเป้าหมายผลักดันให้ RAINS for Eastern Lanna Food Valley ให้เป็นศูนย์กลางด้านสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยของจังหวัดภาคเหนือตอนบน
และส่งเสริมให้เกิดการเชื่องโยงกับภาคอุตสาหกรรมในการผลิต OEM พร้อมขยายผลสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
(BCG Model) เนื่องจากปัจจุบันถึงแม้ประชากรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมและมีพื้นที่การทำการเกษตรกว้างขวาง
แต่ในขณะเดียวกันมูลค่าการผลิตสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของจังหวัดกลับมีแนวโน้มลดลง
(GPP) โดยปัจจัยหลักยังเกิดจากขาดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่
ๆ ในการแปรรูปสินค้า
รวมถึงปัญหาการจัดการของเหลือและวิธีการยืดอายุคุณภาพผลผลิตที่ไม่เพียงพอ
อีกทั้งยังขาดความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม โดยโครงการวิจัยนี้
ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมูลค่าสูงขึ้น 20% จากปีฐาน 2564
และสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาทภายในปี 2574
พร้อมทั้งผลักดันเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งเพื่อความยั่งยืนในอนาคต
ด้าน
ผศ.ดร.ปรมินทร์ อริเดช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.เชียงราย
กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันทางโครงการฯ สามารถพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี
ผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มมูลค่าได้มากกว่า 10 ผลิตภัณฑ์ อาทิ
เครื่องดื่มฟังก์ชันจากเปลือกเมล็ดโกโก้ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มอัดแก๊สจากใบกัญชาและดอกฮ๊อพส์บรรจุกระป๋องที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของ
อย. ผลิตภัณฑ์เม็ดฟู่ที่มีส่วนผสมของสารสกัดสมุนไพรที่มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ Prebiotics ประเภท Soft Capsule ที่พัฒนาจากมะแขว่น
สามารถช่วยสมดุลของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้
ซึ่งทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลำไส้แปรปรวน
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซุปเปอร์ฟู้ดเอนแคปซูเลชันสารสกัดอาซาอิ
ผลิตภัณฑ์ต้นแบบเนื้อเทียมปลีกล้วย “Banana blossom based meat : Nutrient
rich & Yummy meat substitute” ผลิตภัณฑ์สแน็คจากเศษของมะคาเดเมีย
ฯลฯ และนอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงได้แล้ว
ด้านฐานการผลิตสำหรับรองรับความต้องการของตลาด
ทางคณะวิจัยสามารถสร้างเครือข่ายเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ได้แก่
วิสาหกิจชุมชนโกโก้เชียงราย จ.เชียงราย สมาชิกจำนวน 150 ราย กำลังการผลิตผลโกโก้สด
12 ตัน/เดือน วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ จากกาแฟ จ.เชียงราย สามาชิกจำนวน
100-150 ราย กำลังการผลิตเมล็ดกาแฟ 500 กิโลกรัม/เดือน
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปมะคาเดเมียดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
สมาชิกจำนวน 200 กำลังการผลิต 200-250 กิโลกรัม/วัน
คณะนักวิจัยได้ประเมินมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ไว้ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท / ปี
ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้ช่วยให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตในราคาสูงขึ้น
เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมแปรรูปและตลาดต่างประเทศได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
โครงการ
RAINS for Eastern Lanna Food Valley ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้เกษตรกร
แต่ยังมุ่งสร้างระบบนิเวศเกษตรแปรรูปที่ยั่งยืนควบคู่กับการเชื่อมโยงงานวิจัยเข้ากับภาคอุตสาหกรรมและตลาดต่างประเทศ
ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้ภาคเหนือตอนบนให้เป็น
“ศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยของไทย” ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของภาคการเกษตรไทยให้แข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป