ศ.ดร.นฤมล
ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายสัตวแพทย์สมชวน
รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เดินทางไปเข้าพบและหารือกับ Dr.drh.Agung
Suganda อธิบดีกรมปศุสัตว์และบริการสุขภาพสัตว์แห่งอินโดนีเซีย (DGLASH)
ณ กระทรวงเกษตร กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ
ในด้านอุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์และด้านวิชาการในการควบคุมป้องกันโรคระบาดสัตว์
โดยมีนางสาวปุญชรัสมิ์ เหมือนสร้อย อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร)
ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา นางสาวพามิลา สิริชัชนินทร์ เลขานุการเอก
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา และคณะเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เข้าร่วมด้วย
เมื่อวันที่ 27 - 28 กุมภาพันธ์ 2568
ในโอกาสนี้
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์
ได้หยิบยกประเด็นความก้าวหน้าในการขอเปิดตลาดส่งออกไก่พื้นเมือง (Ayam
Bangkok) มายังอินโดนีเซีย ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่า
อธิบดีกรมปศุสัตว์ และ DGLASH ให้ความเห็นชอบต่อร่างเอกสารรับรองสุขภาพสัตว์
(Veterinary Health Certificate; VHC) ตามที่ฝ่าย DGLASH
เสนอมาเรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้อธิบดีกรมปศุสัตว์
จึงได้ส่งมอบเอกสารเห็นชอบต่อร่างฯ VHC ดังกล่าวให้อธิบดีกรมปศุสัตว์และบริการสุขภาพสัตว์แห่งอินโดนีเซียโดยตรง
ในโอกาสที่มาเยือนในครั้งนี้ด้วย ซึ่งฝ่าย DGLASH มีความยินดีและจะรีบออกประกาศขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการส่งออกไก่พื้นเมืองของไทยโดยเร็วและหลังจากประกาศฯ
แล้ว ประเทศไทยจะสามารถส่งออกไก่พื้นเมือง (Ayam Bangkok) ไปยังอินโดนีเซียได้ในทันที
คาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้
ไทยจะสามารถส่งออกไก่พื้นเมืองมีชีวิตไปยังอินโดนีเซียได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จ ตามนโยบายของ ศ.ดร. นฤมล ภิญโญสินวัตน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เสริมสร้างโอกาสให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองของไทย
ในการเพิ่มรายได้จากการเลี้ยงไก่พื้นเมืองและพัฒนาการเลี้ยงไก่พื้นเมืองของไทยให้เป็น
soft power ที่จะสร้างรายได้และชื่อเสียงต่อประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ในช่วงปีแรกของการเริ่มต้นส่งออก
คาดว่าจะมีปริมาณการส่งออกไก่พื้นเมืองมีชีวิตไปอินโดนีเซียปีละไม่ต่ำกว่าจำนวน
12,000 ตัว คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้
DGLAHS ยังได้แสดงความสนใจในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับความร่วมมือด้านแนวทางการจัดทำพื้นที่เขตปลอดโรค
(Compartmentalization) โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อย (Foot
and Mouth disease) รวมถึงความรู้ทางวิชาการด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์
ซึ่งอินโดนีเซียให้ความสนใจเป็นอย่างมากและต้องการเรียนรู้จากประสบการณ์ของไทย
โดยอินโดนีเซียยังมีความต้องการสินค้ากลุ่มโคเนื้อและโคนมอีกมาก
และยินดีต้อนรับกลุ่มนักลงทุนไทยที่สนใจในเรื่องนี้
ข้อมูลในปี
2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปยังอินโดนีเซียมูลค่า 4,600
ล้านบาท โดยสินค้าหลักที่ส่งออกได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์จากนม
ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และการเข้าพบหารือกับ DGLASH
ของอธิบดีกรมปศุสัตว์ ตามข้อสั่งการของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินสินวัฒน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
อีกทั้งสร้างโอกาสในการขยายตลาดสินค้าปศุสัตว์ใหม่ๆ
ที่มีคุณภาพและมาตรฐานจากประเทศไทยสู่ประเทศอินโดนีเซียอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป