เมื่อ 27 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด (เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง) ร่วมกับสมาพันธ์นักข่าวเกษตรนานาชาติ
(IFAJ) และสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย (AMMAT) จัดงานเสวนาสื่อมวลชนเกษตรนานาชาติในประเทศไทย โดยเชิญนักข่าวเกษตรจาก 12 ประเทศ มาร่วมเสวนา ณ ห้องกำพลอดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จํากัด
โดยเปิดโอกาสให้กับนักข่าวเกษตรต่างประเทศได้เข้าร่วมเสวนากับสื่อเกษตรของไทย
เกี่ยวกับเทรนด์ของสื่อเกษตร เรื่องราวความสำเร็จ และความท้าทายของสื่อเกษตรในปัจจุบันที่ต้องเผชิญ
และแนวทางความร่วมมือระหว่างสื่อเกษตรไทยและนานาชาติในอนาคตอีกด้วย
คุณสตีฟ เวอร์โบล (Steve Werblow) ประธานสมาพันธ์นักข่าวเกษตรนานาชาติ (IFAJ)
กล่าวว่า “การเสวนาในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เราได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนความรู้
และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสื่อเกษตรนานาชาติกับสื่อเกษตรไทย
เราได้พูดคุยเกี่ยวกับเทรนด์ของสื่อเกษตรในปัจจุบันรวมถึงอนาคต
และความท้าทายของสื่อเกษตรที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปใช้ทางด้านโซเชียลมีเดีย
แทนการรายงานข่าวเกษตรแบบในอดีตที่เน้นใช้สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์”
นายภิญโญ แพงไธสง
นายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การรวมตัวของสื่อเกษตรนานาชาติและไทยในวันนี้
ทำให้เราได้มีการเชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงานสายอาชีพเดียวกันจากต่างประเทศ
ทำให้เราได้รับมุมมองใหม่ ๆ และนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาสื่อเกษตรของไทย
ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย ได้รับข่าวสารที่ถูกต้องและเชื่อถือได้“
นายพรศักดิ์ พงศาปาน
ตัวแทนสื่อเกษตรไทยจากเว็บไซต์เกษตรก้าวไกล กล่าวว่า “ความท้าทายคือความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล
ทำให้สื่อเกษตรต้องปรับตัวอย่างรุนแรง จากสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นสื่อออนไลน์
ที่ดูผ่านโทรศัพท์มือถือ
โดยเฉพาะความอยู่รอดในเรื่องรายได้ที่เปลี่ยนจากการลงโฆษณาในสื่อกระดาษมาเป็นการลงโฆษณาในสื่อดิจิทัลที่มีรูปแบบหลากหลาย
เช่น การลงโฆษณาเป็นแบนเนอร์ในเว็บไซต์ในระยะแรกที่ได้รับความนิยม
ก็เปลี่ยนมาเป็นการลงโฆษณาที่แฝงมากับบทความข่าว (Advertorial) และที่มาแรงคือการลงเป็นวิดีโอหรือคลิปสั้น
ซึ่งผู้คนจะชอบดูวิดิโอประเภทคลิปสั้นไม่ชอบอ่านหนังสือหรือบทความที่ยาวๆ
การลงเป็นวิดีโอหรือคลิปสั้นก็จะนิยมใช้อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) หรือบุคคลที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook,
YouTube หรือ TikTok ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลต่อความคิดเห็นพฤติกรรม
และการตัดสินใจซื้อของผู้ติดตาม และรายได้ส่วนหนึ่งยังมาจากยอดวิว
ที่โซเชียลมีเดียจัดสรรมาให้ผ่านการลงโฆษณาแทรกในคลิปวิดีโอที่ได้รับความนิยม
ซึ่งรายได้ตรงนี้ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีไม่น้อย ถือเป็นผลพลอยได้ โดยที่ตนเองนั้นยังมีการจัดทำโครงการขึ้นมาเป็นการเฉพาะในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งเพื่อสร้างความแตกต่างๆ
เพราะว่าในรูปแบบของ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ที่ปรากฏในสื่อสมัยใหม่
ใครก็ตามที่มีผู้ติดตามเยอะๆก็สามารถทำได้
ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สื่อข่าวแบบดั้งเดิม เช่น โครงการเกษตรคือประเทศไทย
“เกษตรกรอยู่ที่ไหนเราอยู่ที่นั่น” ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
วิธีการนั้นจะออกเดินทางไปสัมภาษณ์เกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งเป็นความถนัดของสื่อมวลชนเกษตรที่มักจะออกพบปะเกษตรกรอยู่เป็นประจำ
โดยจะเลือกเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานที่ให้งบประมาณกับเรา
ซึ่งวิธีการนี้สื่อต้องลงทุน
สร้างสรรค์โครงการขึ้นมาให้สอดคล้องกับนโยบายของพันธมิตรหรือองค์กรที่เป็นผู้สนับสนุน
แค่ผลตอบแทนก็คุ้มค่า เพราะได้ทั้งเงินและยอดวิว
เนื่องจากแหล่งข่าวหรือเกษตรกรอยู่กระจายทั่วประเทศ
ผู้ชมชอบดูอะไรที่เป็นของจริงหรือธรรมชาติมากกว่าที่จะรายงานข่าวจากสำนักงานหรือในกรุงเทพฯเพียงอย่างเดียว
โดยที่เราสามารถไปสัมผัสตัวตนจริงๆของเกษตรกรคนนั้นๆ”
คุณอาภา วิศวพิพัฒน์ หัวหน้างานฝ่ายการตลาด อีสท์ เวสท์ ซีด กล่าวว่า “เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง เราภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าภาพร่วมในการเสวนานี้ เพราะเราเชื่อว่าสื่อเกษตรมีบทบาทสำคัญต่อเกษตรทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วย สื่อเป็นช่องทางในการส่งต่อความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้กับเกษตรกร เช่น นวัตกรรมเกษตร เทรนด์ความรู้ใหม่ ๆ วันนี้เราได้เรียนรู้ความสำเร็จของการทำสื่อ ความท้าทายที่สื่อเกษตรทั่วโลกต้องเจอ ดังนั้นสิ่งที่เหล่าได้เรียนรู้ในวันนี้ เราจะนำสิ่งเหล่านี้ไปปรับใช้กับเกษตรกร เพื่อให้แน่ใจว่าเกษตรกรจะได้รับข่าวสารเกษตรที่ถูกต้อง ทันสมัย และทันเหตุการณ์"
การเสวนาในครั้งนี้
เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันภายใต้ 3
หัวข้อ คือ เทรนด์ของการรับข่าวเกษตร
ความท้าทายและเรื่องราวความสำเร็จของการทำสื่อสายเกษตร
โอกาสความร่วมมือของสื่อเกษตรไทยและนานาชาติ
โดยนักข่าวเกษตรแต่ละประเทศมีความเห็นตรงกันว่าสื่อทางด้านโซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการเข้าถึงเกษตรกรรุ่นใหม่
แต่ในบางพื้นที่สื่อแบบดั้งเดิม เช่นนิตยสาร วิทยุ ยังมีความสำคัญอยู่
โดยมีกรณีศึกษาที่แสดงถึงวิธีการสื่อสารที่ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงเกษตรกร
เช่น วีดีโอ และวิทยุชุมชน นอกจากนี้
กิจกรรมนี้ถือเป็นโอกาสอันดี
สำหรับความร่วมมือระหว่างสื่อเกษตรไทยและสื่อเกษตรนานาชาติ
ในการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
การเสวนาในครั้งนี้ยังแสดงถึงความตั้งใจและทุ่มเทของอีสท์
เวสท์ ซีด ในการที่จะส่งเสริมเกษตรกรผ่านการให้ความรู้และนวัตกรรม
เราใช้ความพยายามในการรวบรวมนักข่าวเกษตรจากหลายประเทศ
ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจหลักของบริษัทฯ ที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
และเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตร
และต้องขอขอบคุณซินเจนทาที่ได้มอบเงินสนับสนุนให้กับ IFAJ สำหรับการจัดเสวนาในวันนี้