กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ยกระดับมาตรฐานข้อมูลสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของสหกรณ์ไทย
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ครบรอบ 73 ปี
โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวอนงค์นาถ จ่าแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมมอบประกาศเกียรติคุณและโล่รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น
ประจำปีพ.ศ. 2567 และรางวัลชนะการประกวดการออกแบบตราสัญลักษณ์กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
ครบรอบ 73 ปี ในวันที่ 11 มีนาคม 2568 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ
นางสาวอนงค์นาถ
จ่าแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์)
ครั้งเมื่อได้เข้าตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการขับเคลื่อนภารกิจของกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 นั้น โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์) ได้มอบนโยบายที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนในการนำนวัตกรรมที่ทันสมัย
มาใช้เสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการภาคสหกรณ์
พัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพของบุคลากรในการบริหารจัดการทางการเงินอย่างครอบคลุมรอบด้าน
รู้เท่าทัน เพื่อให้การดำเนินงานของสหกรณ์ มีความมั่นคง โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
อีกทั้งยังลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับสหกรณ์และสมาชิก
ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ในปัจจุบันมีสหกรณ์ที่จดทะเบียน รวม
9,530 แห่ง มีจำนวนสมาชิก 11,339,612 ล้านคน มีทุนดำเนินงานกว่า 3.5 ล้านล้านบาท
มูลค่าธุรกิจรวม 2,139,486.96 ล้านบาท โดยมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มมากขึ้น
จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพการบริหารจัดการทางการเงินให้เท่าทันเทคโนโลยีที่หลากหลาย
และธุรกิจของสหกรณ์ที่มีความก้าวหน้ากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงเป็นหน่วยงานสำคัญในการผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการบัญชีสหกรณ์
พัฒนาความสามารถการใช้ข้อมูลสำหรับการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ
และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
ซึ่งนอกจากการผลักดันการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในสหกรณ์และภาคการเกษตรแล้ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์) ยังได้มอบนโยบายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
ดำเนินการร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมขับเคลื่อนการยกระดับการกำกับดูแลสหกรณ์
ด้วยระบบ Co – operative Core System : CCS เพื่อให้สหกรณ์มีระบบมาตรฐานธุรกรรมทางการเงิน
เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และการบริหารสภาพคล่อง
สามารถวิเคราะห์ตรวจจับการทุจริตหรือธุรกรรมผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว
ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในภาคสหกรณ์และกับสมาชิก ยกระดับความโปร่งใส
และสร้างความเชื่อมั่นในระบบสหกรณ์ ควบคู่กับการเสริมสร้างองค์ความรู้และความสามารถการจัดทำบัญชีแก่เกษตรกร
เยาวชน และประชาชน เพื่อใช้วางแผนการประกอบอาชีพ การลงทุนและการผลิต
พัฒนาอาชีพเกษตรกรรมให้มีความยั่งยืน มีวินัยในการใช้จ่ายเงินและมีเงินเก็บออม
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ครบรอบ 73 ปี
ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์) และดิฉัน
ขอแสดงความยินดีกับผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วน
ที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์มาอย่างยาวนาน
โดยมุ่งหวังว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จะเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะสนับสนุนภารกิจของรัฐบาล
และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการยกระดับภาคการเกษตรให้เป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ
สร้างสรรค์เครื่องมือ และสร้างโอกาสให้พี่น้องเกษตรกร
รวมไปถึงสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรด้านการเกษตรและบุคลากรด้านการเกษตร
ให้ก้าวเดินอย่างมั่นคง สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนต่อไป
นายวิณะโรจน์
ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 73 ปี แห่งการสถาปนากรมตรวจบัญชีสหกรณ์
จึงได้จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ภายใต้ชื่องาน
“ยกระดับมาตรฐานข้อมูลสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของสหกรณ์ไทย” ในระหว่างวันที่
10 - 12 มีนาคม 2568 โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ขานรับนโยบายจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์)
มุ่งหวังสร้างพลังการขับเคลื่อนความเข้มแข็งในการดำเนินงานของสหกรณ์ยุคดิจิทัล
ที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เห็นเป็นรูปธรรม
ขับเคลื่อนการยกระดับการกำกับดูแลสหกรณ์ ด้วยระบบ Co – operative
Core System : CCS ตลอดจนร่วมแสดงความยินดีในพิธีมอบประกาศเกียรติคุณและโล่รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น
ประจำปี พ.ศ. 2567 ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานที่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
รวมถึงมีผลงานดีเด่นเป็นประจักษ์
โดยตลอดระยะเวลา 73 ปี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
ได้ขับเคลื่อนงานยกระดับมาตรฐานและสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการทางการเงินแก่สถาบันเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ เกษตรกร มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความมั่นคงและยั่งยืน
โดยในปีงบประมาณ 2568 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
ได้กำหนดเป้าหมายในการยกระดับความเข้มแข็ง โปร่งใสในภาคสหกรณ์และเกษตรกรไทย
ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งเน้นการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น
-
การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการบริการจัดการ
ภาคสหกรณ์
ยกระดับมาตรฐานข้อมูลสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของสหกรณ์ไทย
พร้อมทั้งผลักดันให้สหกรณ์นำเทคโนโลยีและเครื่องมือด้านบัญชีมาใช้สนับสนุนการดำเนินงานในสหกรณ์และให้บริการสมาชิก
ทั้งนี้
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์
เตรียมผลักดันการยกระดับการกำกับสหกรณ์ โดยขับเคลื่อนการยกระดับการบริหารและการกำกับดูแลสหกรณ์ด้วยระบบ
Co – operative Core System : CCS นำมาใช้ในภาคสหกรณ์
เพื่อให้สหกรณ์มีระบบมาตรฐานธุรกรรมทางการเงินที่ตรวจสอบข้อมูลแบบ Real-time
มีระบบสนับสนุนการจัดการและการตัดสินใจ
เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและการบริหารสภาพคล่อง ยกระดับความโปร่งใส
ตรวจจับการทุจริตได้ทันท่วงที สร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิกผู้ใช้บริการ
โดยเริ่มดำเนินการ และนำร่องในสหกรณ์เป้าหมาย ภายในปี 2568
-
การรักษามาตรฐานวิชาชีพ และกำกับ ดูแล ป้องกันปัญหาการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรมโดยทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบต่าง
ๆให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลและสถานการณ์ปัจจุบัน เฝ้าระวัง กำกับ ติดตาม
การบริหารจัดการของสหกรณ์และระบบการควบคุมภายในที่ดี
โดยขับเคลื่อนความร่วมมือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงนาม MOU เพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินผ่านกิจการสหกรณ์
ยกระดับความร่วมมือเพื่อป้องกันป้องปรามการทุจริตและสร้างความโปร่งใส
ตรวจสอบได้ในระบบสหกรณ์
-
การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านบัญชีสู่เกษตรกร กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
ได้ดำเนินงานพัฒนาความรู้ด้านการจัดทำบัญชี
มุ่งเน้นขยายผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของเกษตรกรและประชาชน
ตั้งเป้าหมายพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบธุรกิจเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งสามารถใช้ข้อมูลทางบัญชีและเทคโนโลยี
พัฒนาอาชีพของตนเองได้ สามารถวิเคราะห์จุดคุ้มทุนเพื่อการประกอบธุรกิจทางการเกษตร Break
Even Point (BEP) อีกทั้งได้พัฒนาแอปพลิเคชัน SmartMe เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการจดบันทึกบัญชีผ่านสมาร์ทโฟน
สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรสมัยใหม่ เยาวชนคนรุ่นใหม่
และสมาชิกสหกรณ์ทั่วไป พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายครูบัญชีอาสา
ถ่ายทอดการคิดวิเคราะห์ การลงทุนทำการเกษตร การจำหน่ายผลิตผล ผ่านการจัดทำบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ
ซึ่งปัจจุบันมีครูบัญชีอาสาทั่วประเทศ จำนวน 6,188 ราย
ให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เป็นโค้ชทางการเงินให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ
พร้อมเพิ่มศักยภาพชุมชนแห่งการออม ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีชุมชนเข้าร่วม จำนวน 78
ชุมชน สร้างเงินออมทั่วประเทศ รวมกว่า 21 ล้านบาท นับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดียิ่งขึ้น
อยู่ดี กินดี มีความสุข กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จะมุ้งเน้น
และขยายผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ของเกษตรกร
และประชาชนทั่วประเทศ โดยถือว่าเป็นภารกิจหลักของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
ที่จะต้องแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ของภาคการเกษตร และประชาชนทั่วประเทศ
ให้ได้อย่างยั่งยืน