สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร
(องค์การมหาชน) - ARDA จัดอบรมหลักสูตร
“ผู้บริหารงานวิจัยและนวัตกรรมเกษตร”
สร้างเครือข่ายผู้บริหารงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก ARDA ร่วมผลักดันการพัฒนาผลงานวิจัยคุณภาพที่มุ่งเน้นการนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในกระบวนการผลิตภาคการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการวิจัยให้เกิดวิสัยทัศน์ในการพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์ปัญหาภาคอุตสาหกรรมเกษตร
สร้างการบูรณาการเครือข่ายและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างผู้บริหารงานวิจัย
นักวิเคราะห์ สถาบันการศึกษา
หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก ARDA โดยได้รับเกียรติจากดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิดและปิดหลักสูตรฯ
ดร.วิชาญ
อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ARDA
หน่วยงานบริหารจัดการทุนในระบบ ววน.
และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการบริหารการวิจัยการเกษตรเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน
ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development :
R & D) และการต่อยอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรให้สามารถตอบโจทย์ตลาดโลกเพื่อปรับตัวและรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสมและหนึ่งในปัญหาสำคัญของงานวิจัยในประเทศไทยคือ…ช่องว่างระหว่างงานวิจัยกับการพัฒนางานวิจัยให้นำไปใช้จริง..เพราะถึงแม้จะมีการพัฒนาผลงานวิจัยที่ดีมากมาย
แต่หากไม่มีการบริหารจัดการที่เหมาะสม
งานวิจัยเหล่านั้นก็อาจไม่สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ ทาง ARDA ต้องขอขอบคุณทางสำนักงานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวและให้การสนับสนุนงบประมาณ การจัดอบรมหลักสูตร
ผู้บริหารงานวิจัยและนวัตกรรมเกษตร โดยจัดขึ้นภายใต้โครงการ
“การพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการทุนวิจัยของบุคลากรวิจัยด้านเกษตรและอาหารของระบบ
ววน. ซึ่งได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้โดยเฉพาะ
โดยทางหลักสูตรจะเน้นการสร้างเครือข่ายงานวิจัยให้ผู้บริหารงานวิจัย
นักวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย สถาบันการศึกษา
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกับ PMU ทั้งหน่วยงานภาครัฐ
และภาคเอกชน และผู้เกี่ยวข้อง ได้เข้าใจแนวทางการบริหารจัดการงานวิจัย
ตั้งแต่การจัดสรรทุน การบริหารงบประมาณ การวางแผนโครงการวิจัย
ไปจนถึงการเชื่อมโยงผลงานวิจัยกับภาคเอกชน
เพื่อให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเพื่อที่จะนำไปใช้ประโยชน์จริงในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้”
ด้าน
นายศิริศักดิ์ เปรมปิยะวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาบุคลากรภาคธุรกิจการเกษตร
กล่าวเพิ่มเติมว่าหลักสูตรนี้แบ่งการอบรมออกเป็น 2 รุ่น รุ่นละ 50 คน รวมทั้งสิ้น
100 คน โดยรุ่นที่ 1 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 14 และ 17 – 19 กุมภาพันธ์
2568 และรุ่นที่ 2 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 - 7 และ 10 – 12 มีนาคม
2568โดยทางผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการทุนวิจัยของ ARDA
และการถ่ายทอดองค์ความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการเกษตรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนและให้ความรู้กับผู้เข้าอบรมตลอดหลักสูตรครอบคลุมเนื้อหาสำคัญใน
5 กลุ่ม ได้แก่
1.
ทิศทางงานวิจัยภาคการเกษตร การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร
และการใช้ประโยชน์งานวิจัยในธุรกิจเกษตร
2.
การปฏิรูประบบวิจัย
และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อสร้างโอกาสในการบริหารงานวิจัยร่วมกัน
3.
การวางแผน การจัดการโครงการวิจัย และการเขียนบทสรุปและรายงานวิจัย
4.
การใช้เครื่องมือสมัยใหม่ในการวิเคราะห์โครงการวิจัย
5.
การทำงานเป็นทีม
ซึ่งนอกจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางภาคทฤษฎีแล้ว
ในหลักสูตรยังมีเนื้อหาภาคการเสวนาเพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้มีประสบการณ์ในหัวข้อ
“การแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อสร้างโอกาสในการบริหารงานวิจัยร่วมกัน” และ
“ธุรกิจสำเร็จได้ด้วยงานวิจัย” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กรจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
นอกจากนี้
ทางคณะผู้เข้าอบรมยังได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานในองค์กรชั้นนำของประเทศในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้กับธุรกิจจนประสบความสำเร็จ
อาทิ “KUBOTA FARM” อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี
ฟาร์มเกษตรที่ใช้เครื่องจักรกลทำเกษตรแบบครบวงจรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ และบริษัท
ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEGH” ผู้ผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติและน้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่ในภาคตะวันออก
ฯลฯ
“ถึงแม้การลงทุน
R&D เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทย
อาจต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมาก แต่หากสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประเทศไทยก็มีโอกาสก้าวขึ้นเป็นประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในอนาคต
การอบรมหลักสูตรนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยสร้างงานวิจัยคุณภาพและเชื่อมโยงงานวิจัยด้านการเกษตรไปขยายผลสู่ภาคเอกชนให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศต่อไป” ดร.วิชาญกล่าวในตอนท้าย